กสทช.คาดออกประกาศ 3 ฉบับสิ้นปีนี้รองรับเปิดเสรีดาวเทียม ประเดิมออกไลเซ่นส์วงโคจร 50.5 องศาตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 16, 2019 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวในงานสัมมนา "OpenSky 2020: Opportunities and Challenges โอกาสและความท้าทายในกิจการดาวเทียมของไทย" ภายใต้การเสวนา หัวข้อ "ธุรกิจได้อะไร เปิดเสรีกิจการดาวเทียม" ว่า กสท.ยกร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างประกาศ แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม, ร่างประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และร่างประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ และเห็นชอบแนวทางการจัดรับฟังความคิดเห็นตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.53

ปัจจุบันร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับอยู่ระหว่างรอคณะกรรมการ กสทช. อนุมัติอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ และในปี 63 จะเริ่มจัดสรรใบอนุญาตดาวเทียม โดยเฉพาะการให้สิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมตำแหน่งที่ 50.5 องศาตะวันออก

"หัวใจสำคัญในการออกใบอนุญาต แน่นอนว่าจะเปิดให้มีการแข่งขันด้านกิจการดาวเทียมของประเทศไทยอย่างเสรีและเป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีการออกใบอนุญาตเพื่อให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายเก่าหรือรายใหม่สามารถเข้าสู่กิจการดาวเทียมได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหลักการที่สากลและหลายประเทศให้การยอมรับ"

ทั้งนี้ สำหรับกิจการอวกาศในฐานะที่ กสทช.เป็นผู้รับผิดชอบ จะมีมิติที่มากกว่าการประกอบกิจการโทรคมนาคม อย่างโทรศัพท์มือถือ หรือภาคพื้นดิน ซึ่งจะเป็นการเปิดการแข่งขันในมิติเดียว แต่กิจการดาวเทียมจะมีทั้งมิติภาคอวกาศ (Space Segment) และภาคพื้นดิน (Ground Segment) ซึ่งทาง กสทช.อยากจะเปิดโอกาสให้บริษัทไทยมายิงดาวเทียมที่เป็นดาวเทียมสัญชาติไทย จากเดิมที่มีเพียง บมจ.ไทยคม ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทหลายบริษัทเข้ามาแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนในการยิงดาวเทียมในนามประเทศไทย และให้บริการประชาชน

ขณะเดียวกันอีกมิติหนึ่งที่มีดาวเทียมต่างชาติที่ลอยอยู่บนประเทศไทยอยู่แล้ว และสามารถให้บริการในภาคพื้นดินไทยได้อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันทาง กสทช.ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมดังกล่าว ซึ่งการเปิดเสรีกิจการดาวเทียมก็จะเป็นการเปิดใน 2 มิตินี้ หรือเรียกได้ว่านอกจากจะเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันยิงดาวเทียมในประเทศไทย ยังมีการเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัทในประเทศไทยและบริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของดาวเทียมที่ให้บริการในภาคพื้นดินไทย มาทำการแข่งขันกันให้บริการในประเทศไทยได้ด้วย

"ถ้าไม่มีการเปิดเสรีกิจการดาวเทียม ก็จะไม่เกิดการแข่งขัน และจะได้ผู้เล่นที่อยู่ภายใต้กรอบเท่านั้น ซึ่งประชาชนหรือผู้บริโภค ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีดังกล่าว ซึ่งทางกสทช.ก็ อยากจะเห็นผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และนวัตกรรมใหม่ๆ"

นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า โอกาสของธุรกิจดาวเทียมยังเติบโตได้อีกมาก ซึ่งในอนาคตอันใกล้ระบบสื่อสารดาวเทียมจะถูกพัฒนาโดยส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นไปในย่านวงโคจรระยะต่ำ (LEO : Low Earth Orbit ) ซึ่ง CAT อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารดาวเทียมในย่านนี้

เมื่อประเทศไทยมีความต้องการใช้งานข้อมูลผ่านดาวเทียมขนาดใหญ่ และ 5G จะทำให้ CAT สามารถให้บริการรองรับได้ทันทีและยังมีการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจด้วยการเสนอพื้นที่สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของ CAT ให้เป็นสถานี Gateway ของเครือข่าย ดาวเทียม LEO ที่มีการใช้งานลักษณะกลุ่มดาวเทียม (Constellation) ครอบคลุมทั่วโลกประมาณ 800 ดวง

นอกจากนี้ มองว่า Smart Home และ Smart City จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ความต้องการการใช้งาน IoT เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายและยกระดับคุณภาพชีวิต

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ กรรมการ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยคม (THCOM) กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติเมื่อมีการเปิดเสรีทางการแข่งขันและจะมีรายใหม่เข้ามาในตลาดนี้ เนื่องจากทุกวันนี้รายได้ 50% ของ THCOM มาจากต่างประเทศ ซึ่งการทำตลาดต่างประเทศก็คือการเข้าไปแข่งขันกับรายอื่น มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ได้แข่งกับใคร การเปิดเสรีจึงเป็นเรื่องที่ดีเพราะจากเดิมในระบบสัมปทานต้องเสีย Revenue Sharing อยู่ที่ประมาณ 22% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากถ้าเปรียบเทียบกับการทำตลาดในต่างประเทศ

อีกทั้ง การเปิดเสรีนั้นยังคงมีกติกาและเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งบริษัทที่จะเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยจะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศ ดังนั้น วิธีการทำตลาดอาจจะเปลี่ยนเป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ THCOM เพื่อสร้างกลยุทธ์ในการทำตลาด ซึ่งบริษัทระดับโลกเริ่มมีเข้ามาถูกคุยกับ THCOM บ้างแล้ว จึงมองว่าเปิดเสรีธุรกิจดาวเทียมเป็นโอกาสที่จะช่วยให้บริษัทมีพันธมิตร

นายวรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของ มิว สเปซ ที่จะแตกต่างจากผู้เล่นรายเดิมในตลาดคือ ความสามารถในการ Customization เป็นการคิดและปรับเปลี่ยนการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อมีการเปิดเสรีทางการแข่งขันในธุรกิจนี้ จะยิ่งส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจดาวเทียมของมิว สเปซ โดยมุ่งเน้นในการให้บริการด้านการรับส่งข้อมูล (Data) เป็นหลัก

ทั้งนี้ คาดว่า ปี 63 มิว สเปซจะเติบโตได้ถึง 300% หลังจากเปิดเสรีดาวเทียม ซึ่งการเปิดเสรีทางการแข่งขันของธุรกิจนี้เป็นเรื่องที่ดี ต้องบอกว่าดาวเทียมนั้นมีความเป็นเสรีอยู่แล้ว การเปิดแข่งขันเสรีในไทยจะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งลูกค้าของมิว สเปซ มีทั้งระดับองค์กรและผู้ให้บริการต่างๆ ในประเทศ ซึ่งการเปิดเสรีจะสร้างโอกาสให้เกิดบริษัทดาวเทียมใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เป้าหมายปัจจุบันของมิว สเปซ ชัดเจนไปที่การมุ่งเน้นในเรื่องของธุรกิจการรับส่ง Data


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ