สศค. เชื่อมาตรการภาครัฐหนุน GDP Q4/62 โตสูงสุดของปี สร้างแรงส่งต่อเนื่องใน H1/63 แต่รับเศรษฐกิจไทยยังโตไม่เต็มศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 12, 2019 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะเติบโตได้มากว่า 3% และถือว่าเป็นไตรมาสที่เติบโตได้สูงสุดของปี 2562 โดยได้รับอานิสงส์ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมจากการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในเดือนต.ค.62 ที่เพิ่มขึ้น 6% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือนพ.ย.เช่นกัน ซึ่งจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถเติบโตได้ที่ระดับ 2.6-2.8% "วันนี้ เห็นสัญญาณบวกบางเรื่อง เช่น การอุปโภคภายในประเทศที่ขยายตัวเยอะ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศ โต 6% ในเดือนต.ค. เดือนพ.ย.ก็น่าจะโตต่อเนื่อง เราเห็นตัวเลขที่เริ่มดีขึ้นของการบริโภคภายในประเทศ...จีดีพีไตรมาส 4 จะเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดของปี 62 น่าจะสูงกว่า 3% ส่วนทั้งปี คงอยู่ในช่วง 2.6-2.8%" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

โดยเชื่อว่าการเติบโตในระดับที่ดีของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ จะช่วยเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2563 โดยเฉพาะจากมาตรการ "บ้านดีมีดาวน์" ซึ่งเป็นมาตรการที่ขับเคลื่อนผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นฟันเฟืองใหญ่ที่สำคัญ เพราะหากฟันเฟืองตัวนี้เริ่มหมุน ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในไตรมาส 1-2 ปีหน้า

ผู้อำนวยการ สศค. ประเมินว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.2% ในขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงไม่แตกต่างไปจากในปี 2562 มากนัก ทั้งในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน สถานการณ์การค้าโลกที่ยังซบเซา รวมทั้งปัจจัยเรื่องค่าเงินที่ยังคงต้องติดตามอยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งควรจะอยู่ที่ระดับ 4% แต่ผลกระทบจากสถานการณ์จากเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบนี้

พร้อมย้ำว่า วันนี้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ การเตรียมรับมือว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ คือ พยายามดูแลดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ให้ซบเซาหรือซึมตัวไปตามเศรษฐกิจโลก และนี่จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดรัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ทุกประเทศต้องดูแลเศรษฐกิจภายในกันทั้งนั้น ล่าสุด ญี่ปุ่นที่เพิ่งออกมาตรการมา ก็ใช้เงินมหาศาลเช่นกัน...เราพยายามออกมาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจภายใน เราไม่รู้ว่าผลกระทบภายนอกจะรุนแรงแค่ไหนในไตรมาส 4 เราก็เตรียมการรับมือไว้ว่าถ้าเศรษฐกิจภายนอกยังไม่ดี ยังดิ่งลงอีก สิ่งที่เราออกมา น่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจภายในเอาไว้ได้ ทำอย่างไรให้เติบโตได้สูงที่สุด ใกล้เคียงกับศักยภาพที่ประเทศไทยมีให้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราดูแล" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

สำหรับปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ซึ่งนอกจากการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญแล้ว ยังต้องมาจากการลงทุนทั้งในระดับฐานราก เช่น การลงทุนในระดับหมู่บ้าน, ชุมชน ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กลไกผ่านทางกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งในปีหน้า เม็ดเงินจะเริ่มลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จากที่ได้มีการทำสัญญาหรือลงนาม TOR ในโครงการต่างๆ กันไว้ก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าโครงการบ้านดีมีดาวน์ จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ เพราะการช่วยระบายสต็อกที่อยู่อาศัยได้อย่างน้อยเพียงครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 50,000 ราย จากจำนวนผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ 1 แสนรายแรก ก็จะทำให้มีเม็ดเงินลงไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อีกราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยให้ภาคธุรกิจมีเม็ดเงินที่พร้อมจะนำไปลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ส่งผลดีต่อธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งกลุ่มแรงงาน, วัสดุก่อสร้าง, เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

"โครงการบ้านดีมีดาวน์ สมมติมีคนเข้าร่วมครึ่งหนึ่ง ปลายทางมีคนได้รับอนุมัติสินเชื่อแค่ 5 หมื่นคน ก็เท่ากับบ้านระบายสต็อกไป 5 หมื่นหลัง ปัจจุบันราคาเฉลี่ยใน 2.7 แสนหลังที่ค้างอยู่ คือราคาหลังละ 4 ล้านบาท ดังนั้นถ้า 5 หมื่นหลังที่ระบายออกไปได้ คือเท่ากับ 2 แสนล้านบาทที่กลับไปสู่ developer ที่พร้อมจะลงทุนใหม่ เกิดการขับเคลื่อนผ่านภาคอสังหาฯ เรามองว่าภาคอสั้งหาฯ มี supply chain ที่ยาว มีธุรกิจต่อเนื่องเยอะ ทั้งแรงงาน เฟอร์นิเจอร์ตบแต่ง วัสดุก่อสร้าง มีผู้เกี่ยวข้องมาก ถ้าเขาระบายสต็อกไม่ออก ยังอยู่ 2.7 แสนหลังเท่าเดิม ก็คงเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะลงทุนใหม่ นี่จึงถือว่าเป็นการขับเคลื่อนการลงทุนที่ใหญ่ขึ้น" นายลวรณกล่าว

พร้อมแนะให้ภาคเอกชนใช้โอกาสจากช่วงที่เงินบาทแข็งค่า มาลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับการผลิตให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การผลิตสินค้ามีต้นทุนที่ต่ำลง เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันของประเทศในอนาคต

https://youtu.be/XODh2PJLN3k


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ