โดยข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่จะทยอยรายงานออกมาในช่วงข้างหน้า โดยเฉพาะเครื่องชี้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เงินเฟ้อและตัวเลขการส่งออก คงจะมีน้ำหนักต่อการประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจของ กนง. ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 63
ขณะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตา ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศและผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงความสามารถของรัฐบาลการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังคงมาจากภาคเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักและคงต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ ในการประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ให้เติบโตในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น การผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จึงมีความสำคัญต่อการประคองภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ผ่านการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงต้นปี 2563 ตลอดจนการเร่งรัดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของการใช้จ่ายครัวเรือน ตลอดจนภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะสามารถประคองภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ให้ขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าไตรมาส 3/62 ที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศเริ่มมีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น ทั้งนี้ การบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเฟสแรก น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงที่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะลุกลามออกไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวคงจะช่วยจำกัดปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นได้บ้าง
นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรที่พรรคพรรอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ได้เสียงข้างมากน่าจะสนับสนุนให้ สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit Withdrawal Agreement) ในช่วงปลายเดือน ม.ค.63 คงช่วยคลายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซนให้ลดลง