(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ย.อยู่ที่ 92.3 จาก 91.2 ในต.ค. เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 18, 2019 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.2 ในเดือนตุลาคม 2562 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562

เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยกว่าปกติในช่วงเดือนธันวาคม ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในกลุ่มสินค้าแฟชั่น อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม เป็นต้น เพื่อใช้ใช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีไหม่ ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเตรษฐกิจของภาครัฐส่ง ผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 101.3 โดยลดลงจากระดับ 102.9 ในเดือนตุลาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ SME รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกลดลง แต่อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันได้ จะทำให้การส่งออกของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้เสนอแนะต่อภาครัฐว่า ควรหาแนวทางช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น พิจารณาปรับลดค่าสาธารณูปโภคชั่วคราว ภายหลังจากการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อชดเชยค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐ ส่งเสริมสินค้า Made in Thailand ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวด้วยว่า ปีนี้ได้นำร่องวิเคราะห์ทิศทางของ 15 อุตสาหกรรมในปี 63 โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มยานยนต์, กลุ่มอาหาร, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์, กลุ่มปิโตรเคมี, กลุ่มเครื่องสำอาง, กลุ่มปูนซีเมนต์, กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มทรงตัว ได้แก่ กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม, กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง, กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก, กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มชะลอตัว ได้แก่ กลุ่มเหล็ก, กลุ่มเคมีภัณฑ์, กลุ่มผลิตภัณฑ์หนัง

สำหรับในเดือนหน้า จะมีการวิเคราะห์อีก 30 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เหลือเพิ่มเติม โดยกำลังพิจารณาที่จะวิเคราะห์เป็นรายคลัสเตอร์ที่มีอยู่ 12 กลุ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ