นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.63 ไม่ได้สร้างภาระภาษีให้กับผู้เสียภาษีมากไปกว่าที่เคยเสียภาษีภายใต้กฎหมายเดิม
"การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้สร้างภาระให้ผู้เสียภาษีมากไปกว่าเดิม จากกฎหมายเดิมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายเดิมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และกฎหมายใหม่คาดว่าจะเก็บได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท" นายลวรณ กล่าว
ในส่วนที่อยู่อาศัย ซึ่งบ้านหลังแรกที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี และจากข้อมูลพบว่าประชาชนที่มีบ้านหลังแรก 99.96% เป็นเจ้าของบ้านที่ราคาไม่ถึง 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 0.04% หรือประมาณ 1 หมื่นคน มีบ้านหลังแรกมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งก็จะเสียภาษีในส่วนที่ราคาเกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับผู้ที่มีบ้านตั้งแต่หลังที่ 2 ขึ้นไปจะต้องเสียภาษีล้านละ 200 บาท ตั้งแต่บาทแรก หากนำไปทำบ้านให้เช่าจะต้องเสียภาษีแบบอื่น ๆ หรือในอัตราล้านละ 3,000 บาท ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นผู้ตรวจสอบ
ขณะที่ที่ดินเพื่อการเกษตร ในส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษี 3 ปีแรก หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับการยกเว้นในส่วนของมูลค่าที่เกิน 50 ล้านบาทแรก และเสียภาษีในอัตราต่ำ
ทั้งนี้ ที่ดินเพื่อการเกษตร จะต้องมีการปลูกต้นไม้ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด ทั้งชนิดต้นไม้และปริมาณการปลูก เช่น การปลูกกล้วยต้องไม่ต่ำกว่า 200 ต้น ใน 1 ไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดรายละเอียดเผยแพร่ให้เจ้าของที่ดินทราบรายละเอียดในเร็วๆ นี้
ขณะที่ดินว่างเปล่าของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้รับการบรรเทาภาระภาษีใน 3 ปีแรก โดยได้เว้นภาษี 90% ของราคาประเมิน เป็นเวลา 3 ปี หรือเก็บเพียง 10% เท่านั้น หลังจากนั้นหากยังไม่พัฒนาเป็นโครงการก็จะต้องเสียภาษีที่ดินว่างเปล่าเต็มอัตรา