โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายกังวลการประมูล 5G แข่งขันสูง หลังเปิดให้ TOT-CAT ร่วมวงชิงคลื่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 18, 2019 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายกังวลการประมูล 5G แข่งขันสูงจากที่ให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท.โทรคมนาคม และเปิดให้รายที่เคยประมูลได้แต่ไม่มารับใบอนุญาตเข้ามาร่วมในการประมูลครั้งใหม่นี้ได้ ขณะที่คลื่นที่เปิดประมูลก็ไม่ได้มีมากพอกับความต้องการ รวมทั้งต่างสนใจเข้าประมูลคลื่น 2600 MHz จากที่เปิดประมูล 4 คลื่นความถี่ ด้านรมว.ดีอีเอส แจงให้ ทีโอที-กสท. เข้าร่วมประมูลเพราะเห็นประโยชน์ต่อประชาชนพื้นที่ห่างไกลได้ใช้ 5G

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กล่าวว่า การจะเข้าประมูล 5G จะต้องรอให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ตัดสินใจอนุมัติการเข้าร่วมการประมูล และต้องกำหนดด้วยว่าจะเข้าประมูลคลื่นใดบ้าง จากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จะมีการเปิดประมูล 4 คลื่นความถี่ คือ 700 MHz , 1800 MHz , 2600 MHz. และ 26 GHz

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะบมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) ไม่ควรจะเข้าประมูล 5G ที่เป็นธุรกิจ Wireless แต่ควรหันไปทำธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่อร้อยสาย ดาวเทียม เคเบิลใต้น้ำ เป็นต้น อีกทั้งการเพิ่มหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะทำให้มีผู้เล่นมากรายและยิ่งทำให้การแข่งขันสูง รวมไปถึงราคาประมูลที่จะสูงขึ้นด้วย และถ้าทั้งสองหน่วยงานประมูลได้แล้วจะนำมาให้บริการได้จริงหรือไม่ หากไม่ได้ก็จะทำให้ประชาชนเสียโอกาส

นอกจากนี้ กติกาประมูล 5G ครั้งนี้ ยังเปิดให้เอกชนรายที่เคยประมูลคลื่นความถี่ได้แล้วแต่กลับไม่จ่ายค่าใบอนุญาต สามารถเข้ามาร่วมประมูลได้ ทั้ง ๆ ที่ควรจะถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist)

พร้อมกันนั้น ยังเห็นว่ามีเพียงคลื่น 2600 MHz ที่เอกชนมองว่สจะสามารถไปใช้กับเทคโนโลยี 5G ได้ ซึ่ง กสทช.ได้นำคลื่น 2600 MHz ออกประมูล 190 MHz ขณะที่การนำมาใช้ 5G ต้องใช้จำนวน 100 MHz ดังนั้นการมีผู้เล่นมากรายจะยิ่งทำให้มีการแข่งขันสูงมาก ประกอบกับเห็นว่าควรนำคลื่น 3500 MHz มาประมูล 5G ด้วย ซึ่งมีอยู่จำนวน 300 MHz ที่เหมาะสม และต่างประเทศก็จะใช้คลื่นนี้เช่นกัน แต่ขณะนี้ยังติดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 5 ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ปี 64 จึงเข้าใจว่า กสทช.ยังไม่สามารถนำออกมาประมูลในคราวเดียวกัน หรือจะรอให้ประมูลพร้อมกันก็มองว่าช้าเกินไป

"เทคโนโลยี 5G จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในช่วง 2 ปีแรก อุปกรณ์ต่างๆ จะมีราคาสูงมาก และคาดว่าอีก 4 ปี จะเทคออฟ ที่รอให้มีอุปกรณ์ที่รองรับ 5G จะมีมากขึ้น และภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจมีเวลาเตรียมตัวด้วย "นายวีรวัฒน์ กล่าวในงาน "สัมมนา 5G The New Beginning พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย "

ด้านนางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า กสทช.ควรจะเปิดประมูลคลื่น 2600 MHz เพียงคลื่นเดียว เนื่องจากเป็นคลื่นที่สามารถนำไปใช้เทคโนโลยี 5G ส่วนรูปแบบการประมูลที่ได้ทดสอบแล้วนั้นเห็นว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ก็เห็นว่าจำนวนคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz มีเพียง 190 MHz ควรนำมาเฉลี่ยให้กับโอเปอเรเตอร์ 3 ราย รายละ 60-70 MHz เพื่อพัฒนาการใช้งาน 5G ในระยะเริ่มแรก ไม่ควรจะให้ลูกค้ารายใดรายหนึ่งถูกทิ้ง อีกทั้งยังเห็นว่าทั้ง TOT และ CAT ไม่ควรจะเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ หรือไม่ควรเข้ามาแข่งขัน และหากประมูลแล้วจะนำไปทำธุรกิจอย่างไร เนื่องจากการนำ 5G จะใช้งานร่วมกับคลื่นอื่นด้วย

สำหรับ DTAC ได้เตรียมพร้อมในส่วนของเทคโนโลยี โดยเป็นผู้ให้บริการรายแรกของไทยที่นำโครงข่ายระบบชุมสายเสมือน (Visualized Core Network: VCN) มาดำเนินงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดและรองรับการอัปเกรดใช้งาน 5G ได้ทันที ดีแทคได้มองหารูปแบบการให้บริการ ต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ตไร้สายแบบคงที่สู่การเชื่อมต่อยานยนต์ และที่สำคัญ จะไม่หยุดพัฒนาไปทั้ง 4G และ 5G

ขณะเดียวกัน DTAC เชื่อในการค้นหาความต้องการใช้งาน 5G ว่ามีความสำคัญมากกว่ามุ่งแค่โครงข่าย ดีแทคได้จัดตั้งทีม Agile (อไจล์) 12 ทีมเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งมีประสิทธิภาพรวดเร็วเปรียบเทียบกับการทำงานรูปแบบเดิมๆ ขององค์กร โดยผลลัพธ์จะมุ่งสู่การตอบสนองตลาดและความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างเร็ว

"การแนะนำ 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ประเทศไทยมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อธุรกิจ และถึงเวลาเริ่มต้นแล้ว อุตสาหกรรมต้องระบุความต้องการประโยชน์ของ 5G ที่สอดคล้องกับแนวทางพวกเขา และจะต้องลงทุนทรัพยากรที่พัฒนาสู่ 5G พวกเขาจะต้องยอมรับวิธีการทำงานที่มุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงในขณะที่ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ และพวกเขาจะต้องหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือที่เหมาะสมในการทำงานด้วย" นางอเล็กซานดรา ไรซ์ กล่าว

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ด้านรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า ความท้าทายจะเกิดขึ้นต้องมีคลื่นที่เหมาะสมที่จะใช้ 5G โดยมีคลื่น 2600 MHz ที่มีจำนวน 190 MHZ นั้น ต้องนำมาใช้อย่างน้อย 100 MHZ ดังนั้น หากทุกรายเข้าประมูลทั้ง 5 ราย ก็ต้องแข่งขันกันสูงมาก สุดท้ายการแข่งขันด้วยคลื่นราคาแพง ก็ทำไม่ได้ อาจจะต้องมาทบทวนราคาเริ่มต้นคลื่น 2600 MHz กันอีกครั้งก่อน

ส่วนคลื่น 3500 MHz ที่เป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศ โดยในไทยใช้ในกิจการดาวเทียมไทยคม ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 64 แต่รัฐบาลอยากให้เกิด 5G ได้ก่อน จึงนำ 2600 MHz มาประมูลก่อน แม้ว่าจะมีจำนวนเพียง 190 MHz แต่ถ้านำมารวมกับคลื่น 3500 MHz ที่มี 300 MHZ ก็น่าจะเพียงพอ

นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า 5G จะเกิดได้ไม่ใช่แค่ กสทช.ประมุล 5G แต่จะเกิดได้ต้องมีผู้ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ รวมถึงมีการนำไปใช้เพื่อการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมรับรู้เรื่องดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้ กสทช.ต้องผลักดันคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G รวมทั้งต้องการการสนับสนุนของรัฐบาล แต่การที่ให้ TOT และ CAT เข้ามาประมูลแข่งขันกับเอกชน ตรงนี้ไม่ใช่การสนับสนุน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ 5G เกิดขึ้น เป็นการปฏิวิติอุตสาหกรรม และเห็นว่า 5G ไม่เพียงไปอยู่ในมือเอกชน ซึ่งอย่างน้อย 2 บริษัทที่ไม่เห็นด้วย ที่เห็นว่า TOT และ CAT มาร่วมการประมูล เพราะ5G มาสนับสนุนและดูแลสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การคมนาคม ซึ่งได้จัดเตรียมงบประมาณไว้แล้ว

ทั้งนี้การรักษาพยาบาลไม่ใช่เฉพาะคนที่มีสตางค์ที่จะได้รับการรักษาพยาบาล พี่น้องในต่างจังหวัด หรือที่อยู่ห่างไกลก็ต้องใช้ ดังนั้นจึงให้รัฐวิสาหกิจ เพราะไม่คิดถึงแต่มีกำไร แต่ต้องทำเพื่อขยายให้คนทั่วประเทศได้ใช้งาน แต่ไม่ได้เข้ามาแข่งขันกับเอกชน การแข่งขันเปิดกว้าง เพราะหลายเรื่องต้องดูแลพี่น้องประชาชน แต่ถ้าใช้ 5G ก็ต้องนึกถึงคนที่อยู่ห่างไกล จึงให้ TOT และ CAT เข้าประมูล และรัฐบาลก็ยังสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน

"ผมถามว่าหลายเรื่องต้องใช้ 5G ทำให้ฟรีไหม ถ้าให้ฟรีจะให้ทีโอที และแคท ถอน ไม่เข้าประมูล ...อย่าห่วงวันเคาะจริงอาจเคาะไม่ได้ เราจำเป็นต้องแสดงความจำนง ถ้าได้มาก็ใช้ให้ประโยชน์ใช้กับสังคม" รมว.ดิจิทัลฯ กล่าว

นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อต้องการว่าการทำ 5G ให้เกิดความเชื่อมั่นของต่างชาติ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจัง ไทยมีความพร้อม และจะนำ 5G ที่จะใช้งานทั้งในกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ให้มีการประสานร่วมมือกันทุกด้าน ทั้งนี้ 5G จะต้องเกิดในปีหน้าให้ได้เพราะประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศก็เริ่มใช้ 5G

https://youtu.be/xQ0NU45KUcI


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ