นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ธปท.ยังเก็บมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้นเอาไว้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน และพร้อมจะนำมาประกาศใช้หากมีความจำเป็นในอนาคต
"ไม่ได้หมายความว่าเราทิ้งมันไป เราก็เก็บไว้ในกระเป๋า ถ้ามีความจำเป็นเมื่อไหร่เราก็เอาออกมาใช้ได้ จะเอามาดัดแปลงเปลี่ยนแปลงอะไรอีก ทำได้อยู่แล้ว แต่ละประเทศก็เป็นลักษณะอย่างนั้น...ถ้ามีความจำเป็น เราก็ต้องชั่งน้ำหนัก"
"การที่เราพูดแบบนี้ คนที่ตั้งใจจะเข้ามาเล่นค่าเงินของเราเขาจะได้เกิดความเกร็งบ้าง ไม่ใช่อยากจะเข้าเมื่อไหร่เราก็จะปล่อยให้เขาเข้ามาเสมอ เราก็บอกว่าให้ระวังตัวเอาไว้ ถ้ามีความจำเป็นเราก็จะหยิบมาใช้ใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมาใช้ขณะนี้" นางธาริษา ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์เช้าวันนี้
ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า พอใจกับสถานการณ์หลังจากยกเลิกมาตรการ 30% โดยผู้ส่งออกไม่ได้ตื่นตระหนกเทขายเงินดอลลาร์ออกมาอย่างถล่มทลายอย่างที่กังวล และยังน้อยกว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้าการยกเลิกมาตรการดังกล่าว ที่มีการเทขายอย่างหนักเนื่องจากเกิดข่าวลือต่างๆ ทำให้มีความสับสนและความไม่แน่นอนสูง ซึ่งสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อค่าเงินบาท
ขณะที่ด้านผู้นำเข้าก็เข้ามาในตลาดมากขึ้นด้วยจากที่เคยรีรอก่อนหน้านี้ แสดงว่าตลาดตอบรับมาตรการที่ทำไปเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้นำเข้าเริ่มป้องกันความเสี่ยง จากมุมมองที่เกรงว่าบาทจะอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องการ คือ การมีผู้เล่นที่มีหลายมุมมองในตลาด เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นในทิศทางเดียวทั้งหมด
นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.ยังคงยืนยันจะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมาก และไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่าประเทศคู่ค้าของไทย แต่ไม่ได้มีการกำหนดตัวเลขค่าเงินบาทไว้ในใจ เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินขึ้นกับภาวะหลายอย่างทั้งปัจจัยภายนอกและในประเทศที่ ธปท.ควบคุมไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มมีมุมมองหลากหลายมากเกี่ยวกับแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ ทั้งด้านอ่อนค่าและแข็งค่า โดยนักวิเคราะห์บางคนมองว่าค่าดอลลาร์น่าจะแข็งค่าขึ้นเพราะลงไปมากแล้ว และปัญหาที่เกิดจากสถาบันการเงินในสหรัฐทำให้มีความต้องการเงินเพิ่มทุน ประกอบกับราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ลงไปมากแล้ว จึงคาดว่าจะมีเงินไหลเข้าไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้น น่าจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นด้วย
ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าก็จะต้องติดตามข้อมูลและป้องกันความเสี่ยงไว้สม่ำเสมอ แต่อย่าไปปักใจเชื่อว่ามันจะต้องไปทิศนี้แน่นอน
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้น นางธาริษา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะพิจารณาอัตราที่เหมาะสมจากข้อมูลล่าสุดทั้งความกังวลเกี่ยวกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อว่ามีมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 3.25% ถือว่าต่ำที่สุดแล้วในภูมิภาค ซึ่งหากหักอัตราเงินเฟ้อออกไปก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเหลือเพียง 1% กว่าๆ และด้านผู้ฝากเงิน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำไปจนติดลบแล้ว
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้ หากความเสี่ยงในด้านต่างๆ ดูแล้วว่ามีความเหมาะสมก็สามารถนำมาใช้ได้
"เราดูภูมิภาคด้วย ดูหมด นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง ต้องประสานกัน" นางธาริษา กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ศศิธร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--