สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดงานสัมมนา "Thailand Plus Package ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย"
นายพูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ๆ ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงปัญหาผลิตภาพการผลิต โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาเป็นเครื่องมือในการรับมือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับกระบวนการผลิต สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภครายบุคคลได้มากยิ่งขึ้น สร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรม และสามารถรองรับการเติบโตของภาคการผลิตและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่ประเทศไทยจะสามารถดำเนินงานไปยังทิศทางดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics : STEM) เพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศ และการเตรียมพร้อมเป็นฐานรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ภาครัฐจึงได้ริเริ่มมาตรการที่มุ่งเน้นเร่งรัดการลงทุนและการรองรับการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package โดยมีมาตรการสนับสนุนการพัฒนาทักษะและใช้ประโยชน์บุคลากรทักษะสูง ได้แก่ 1. มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่า และ 2. มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดย สอวช. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการนำมาตรการดังกล่าวไปใช้จริงในเดือนมกราคม พ.ศ.2563 โดยมีการจัดทำรายละเอียดทักษะเพื่ออนาคต หรือ Future Skills Set หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรม (Registered Training Organization - RTO) และหลักเกณฑ์การรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย มีบุคลากรที่มีสมรรถนะที่สามารถตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก ทันต่อการเปลี่ยนงานและอาชีพในโลกอนาคต มีทักษะสอดคล้องกับที่ตลาดงานต้องการ และทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับการลงทุนหรือการย้ายฐานการผลิตที่มาจากต่างประเทศในระยะยาวได้
ไฮไลท์ของการจัดงานในครั้งนี้ คือการนำเสนอรูปแบบการสร้างกำลังคนแนวใหม่ เช่น โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง หรือ TIME (Total Innovation Management Enterprise) เพื่อให้บุคลากรบริษัทมีความรู้ทางวิชาการควบคู่ไปกับทักษะทางอุตสาหกรรมเพื่อเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้ภาคเอกชนสามารถใช้ วทน. ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และยังเป็นการสร้างกลไกยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญสอดคล้องต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต
"TIME เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากการทดลองนำร่องโครงการ WiL และโครงการพัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการขนาดกลาง ของ สอวช. ที่ประสบความสำเร็จ....โครงการ TIME จึงถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่เข้ากับบริบททางสังคมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย" นายพูลศักดิ์ กล่าว