น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล ที่ปักหลักชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเมื่อปัญหาได้รับการคลี่คลาย ชาวประมงจึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาไปแล้ว
สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงที่สำคัญ เช่น ด้านกฏหมาย มีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนกฏระเบียบที่กระทบต่อวิถีการทำประมง ซึ่งทางคณะกรรมการประมงแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หารือร่วมกับชาวประมงเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ส่วนการแก้ไข พ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ผู้แทนชาวประมง และนักวิชาการ มาศึกษาผลกระทบของกฎหมายเดิมและเสนอแนวทางแก้ไข โดยกำหนดระยะเวลาพิจาณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษากฏหมายแรงงานที่ชาวประมงต้องการให้เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถฝึกงานบนเรือได้ และเรียกร้องให้มีการจัดหาแรงงานประมงให้เพิ่มมาขึ้น
ส่วนข้อเรียกร้องด้านการเงินนั้น ชาวประมงได้ขอให้รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเรือที่ออกจากระบบจากการทำผิดกฏหมายประมาณ 3,000 ลำ ที่ต้องใช้เงินเยียวยา 8,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้รับไปพิจารณาต่อไป โดยรอจากงบประมาณปี 63 หากงบประมาณผ่านที่ประชุมสภา จะมีการจัดสรรแก่ผู้ประกอบการเรือประมงต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องด้านอื่นๆ เช่น ชาวประมงให้เข้มขวดการลักลอบการนำเข้าสัตว์น้ำผิดกฏหมายเข้ามาในประเทศ และมีข้อเรียกร้องให้มีการเพิ่มวันทำประมงด้วย
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติ
สำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และวางรากฐานระบบการป้องกันการทำประมง IUU ไว้แล้ว โดยหลังจากการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ไทยยังคงเร่งรัดปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทำงานร่วมกับสหภาพยุโรปและนานาประเทศอย่างใกล้ชิด และดำเนินนโยบายการปลอดสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ IUU เข้าสู่ประเทศไทย (IUU Free Thailand)
"รมว.พาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาประมงอย่างเต็มที่ ซึ่งได้สั่งการให้มีการติดตามการแก้ไขปัญหาโดยด่วน และให้มีการประชุมติดตามผลอีกครั้งในเดือนหน้า (ม.ค.63)" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ