นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามมูลค่าการค้าของไทยกับ 18 ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) การส่งออกของไทยไปประเทศคู่ FTA เติบโตเฉลี่ย 3.31% สูงกว่าการส่งออกไปประเทศที่ไม่มี FTA ด้วยกัน ซึ่งเติบโตเฉลี่ยเพียง 0.75%
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ 18 ประเทศคู่ FTA ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 253,898 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 62.4% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก เป็นการส่งออก 128,271 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 125,626 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคู่ FTA ที่ไทยค้าด้วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อาเซียน 90,737 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ จีน 65,155 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 48,733 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย 12,225 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกาหลีใต้ 11,297 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยไทยได้ดุลการค้ากับประเทศส่วนใหญ่ เช่น อาเซียน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลิ และฮ่องกง ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก และผลิตภัณฑ์
นางอรมน กล่าวด้วยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย) ไทยส่งออกโดยใช้สิทธิ FTA เป็นมูลค่า 50,312 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 78.25% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ และนำเข้าโดยใช้สิทธิ FTA 27,594 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 52.25% ของการนำเข้าสินค้าที่ได้รับสิทธิ โดยกรอบ FTA ที่ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 3 อันดับแรก คือ อาเซียน จีน และออสเตรเลีย ส่วนสินค้าที่ใช้สิทธิ FTA สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, พลาสติก, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
"FTA เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก และการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ท่ามกลางแนวโน้มการกีดกันการค้า และความไม่แน่นอนของการค้าโลก กรมฯ ได้ตอบสนองนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่ให้เร่งสรุป FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น ไทย-ตุรกี, ไทย-ปากีสถาน, ไทย-ศรีลังกาให้เสร็จภายในปี 2563" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าว
พร้อมกันนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดการเจรจา FTA ในกรอบใหม่ๆ เพื่อแสวงโอกาส และลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทย ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยขยายตัว มีแต้มต่อในการแข่งขัน ที่สำคัญอยากให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ และใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ที่มีอยู่ เพิ่มโอกาสการส่งออกและอาจนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาต่อยอดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการของไทย" นางอรมนกล่าว