บริษัทผลิตยานยนต์สหรัฐเผยยอดขายรถกระบะ รถเอสยูวี และรถซีดานขนาดใหญ่ ร่วงลงอย่างหนักในเดือนก.พ. หลังผู้บริโภควิตกราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงการที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
โดยบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) และ ฟอร์ด มอเตอร์ ประกาศลดกำลังการผลิตยานยนต์ในไตรมาส 2 หลังยอดขายลดลงกว่า 13% และ 7% ตามลำดับ ในขณะที่ไครส์เลอร์ มียอดขายร่วงลง 14% และ โตโยต้า ลดลง 3% อันเป็นผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง นอกจากนั้นตัวเลขการสร้างบ้านที่ลดลงยังส่งผลให้ยอดขายรถกระบะลดลงตามไปด้วย
ด้าน มาร์ค เลอเนฟ รองประธานฝ่ายขายและการตลาดประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือของบริษัทจีเอ็ม กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดการปล่อยสินเชื่อเพื่อรถยนต์ที่เข้มงวดกว่าเดิมอาจส่งผลต่อยอดขายเช่นกัน
จีเอ็มเปิดเผยว่า ยอดขายรวมของบริษัทลดลงอย่างมากหลังจากที่ยอดขายรถกระบะและรถเอสยูวีร่วงลงกว่า 19% ในเดือนก.พ. นอกจากนั้นยอดขายรถกระบะเชฟโรเล็ตก็ร่วงลง 29%, รถบิวอิก ลูเซิร์น ร่วงลง 26% และเมื่อสรุปโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปี ยอดขายของบริษัทลดลงกว่า 6%
ด้านยอดขายของฟอร์ดก็ลดลงเช่นกัน โดยยอดขายรถเอสยูวีร่วง 22% ในเดือนก.พ. ในขณะเดียวกันยอดขายรถยนต์ก็ลดลง 9%, รถกระบะ ลดลง 5% และเมื่อสรุปโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปี ยอดขายของบริษัทลดลงกว่า 5.5%
ไครส์เลอร์เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กเพิ่มขึ้น แต่ยอดขายรถขนาดใหญ่ลดลง โดยยอดขายลดกระบะลดลงกว่า 22%
ด้านโตโยต้ามียอดขายยานยนต์ลดลง 4% ในขณะที่ยอดขายรถกระบะยังทรงตัวในเดือนก.พ.
อย่างไรก็ตาม บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ กลับสวนกระแสขาลงของตลาด ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 5% ในเดือนก.พ. โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ขนาดเล็ก และเมื่อสรุปโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปี ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 2%
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปีนี้จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐมีการขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยานยนต์ยังเชื่อว่ายอดขายยานยนต์จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
"อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐจะประสบกับความยากลำบากเล็กน้อย แต่หลังจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้น" รองประธานฝ่ายการตลาดของโตโยต้าสหรัฐ กล่าว
หากตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ ยอดขายยานยนต์ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับในเดือนก.พ. ก็จะทำให้ยอดขายยานยนต์ในสหรัฐอยู่ที่ราว 15.4 ล้านคัน ลดลงจาก 16.6 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--