ศูนย์วิจัยกสิกรมองยกเลิก 30% สร้างความซับซ้อนการบริหารเสถียรภาพการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 4, 2008 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เผชิญความท้าทายในการบริหารจัดการนโยบายการเงิน หลังยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ท่ามกลางแนวโน้มดอลลาร์อ่อนค่า ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐอาจกว้างขึ้นอีก ขณะที่เงินเฟ้อล่าสุดเร่งตัวสูงขึ้นมาก และราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ซึ่งทำให้การบริหารเสถียรภาพทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น 
ทั้งนี้ การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น ถือว่าเป็นการกำจัดอุปสรรคของการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ น่าจะทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และเป็นผลดีต่อตลาดทุนไทยโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งเป็นผลดีต่อการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน เช่น กองทุนรวมต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการดังกล่าวอาจทำให้การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและการดำเนินนโยบายการเงินเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในอนาคต แม้ว่าภายใต้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคม 51 จะทำให้ธปท.มีเครื่องมือทางการเงินเพิ่มมากขึ้นสำหรับการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมถึงสามารถจะบริหารจัดการสินทรัพย์ในขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เพื่อการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท
แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว การยกเลิกมาตรการกันสำรองท่ามกลางจังหวะเวลาที่เงินดอลลาร์ฯยังมีแนวโน้มแข็งค่าภายใต้แรงกดดันจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯที่มีแนวโน้มกว้างขึ้น อาจทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาสมดุลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว อาจทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดลงไปอีก อาจสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากกระแสเงินทุนที่เคลื่อนย้าย ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐคาดว่าจะกว้างขึ้น หากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดดอกเบี้ยลงไปถึง 1.75-2.00% ภายในกลางปี 51 ตามที่ตลาดคาด ย่อมจะส่งผลกดดันการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทย
ในขณะที่ ธปท.จำต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์พุ่งไปถึง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีแนวโน้มผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจสร้างความซับซ้อนมากขึ้นให้กับธปท. ในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค และภาวะที่ผ่อนคลายของนโยบายการเงินและการคลังดังกล่าว อาจนำมาสู่ข้อกังวลของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ