นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2563 จะขยายตัวได้ 2.5-2.7% จากปีนี้คาดเติบโตได้ไม่เกิน 2.5% โดยมีปัจจัยหนุนจากการขับเคลื่อนนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินในปี 2563 ที่มีวงเงินกว่า 3.2 ล้านล้านบาท เพื่อมีแผนงานการลงทุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าชัดเจน รวมถึงงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกกว่า 4 แสนล้านบาท ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานและการลงทุนมากขึ้น
ขณะที่ภาคส่งออกของไทยในปี 2563 ภาพรวมแม้จะมีแนวโน้มหดตัวลงมาอยู่ที่ -1.0% ถึง -2.0% แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคอาเซียนที่มีมูลค่าส่งออกกว่า 27.14% ซึ่งเป็นผลพวงการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งการขยายเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ 33 จังหวัดชายแดนของประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ผ่านการทำกิจกรรมทางการค้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเกิดการกระจายรายได้ให้กับคนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว กระทบต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น ผลจากอิทธิพลของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากต่างประเทศ และภาคการส่งออกมีแนวโน้มหดตัว 2.ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะหนี้เสียจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และหนี้บัตรเครดิต 3.ผลกระทบจากนโยบายภาครัฐเรื่องการจัดระเบียบทางเท้ากระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มสตรีทฟู้ดและหาบเร่ 4.ภาคการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ซบเซา ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมชะลอลงทุนไม่เพิ่มกำลังการผลิต 5.นโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มทุนใหญ่ ส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่เพียงพอ
นายมนตรี กล่าวว่า ด้วยปัจจัยดังกล่าวชี้ชัดว่านโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพจะได้ผลดีกว่านโยบายการเงิน เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% และอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.0-1.5% ส่วนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งตัวมาอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์ พร้อมคาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) จะขยายตัวไปแตะระดับ 1,700 จุด ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากต่างประเทศ
นายมนตรี กล่าวถึงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มูลค่าการส่งออกมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก โดยพึ่งพิงสูงถึง 77.2% เมื่อเกิดผลกระทบด้านสงครามการค้าสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับ 1 และ 2 คิดเป็นสัดส่วนส่งออก 12.6% และ 11.5% ตามลำดับ ส่งผลให้การส่งออกของไทยอยู่ในภาวะหดตัว โดยขยายตัวติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน เฉลี่ยแล้วการส่งออกไทยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาหดตัว -4.8%
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศอย่างภาคการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยล่าสุดอยู่ที่ 78.7% และมีแนวโน้มขยายตัว ส่วน Capacity Utilization ภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลงมาอยู่ที่ 63.88 สะท้อนให้เห็นได้ถึงกำลังการผลิตที่ยังคงเหลือจึงยังไม่เห็นสัญญานของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มกำลังการผลิตหรือเกิดการขยายตัว และการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 63 เกิดความล่าช้า ทำให้กลไกของนโยบายการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านงบลงทุนและการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณดำเนินการได้ไม่เต็มที่
ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักยังเติบโตที่ดี โดยประเมินจากผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกที่ Mastercard ได้สำรวจในปีนี้พบว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนมากที่สุดในโลก และติดอันดับ 3 ของเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปใช้จ่ายในการพักค้างคืนมากที่สุดของโลก ซึ่งช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเติบโต 2.58% หรือประมาณ 26.56 ล้านคน และสร้างรายได้ประมาณ 1.28 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินหยวนกับค่าเงินบาทที่ต่างกันมากถึง 20% ทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาในไทยลดลง