หยาง ไคเชง ประธานธนาคารอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงค์ ออฟ ไชน่า หรือไอซีบีซี และยังเป็นสมาชิกคณะกรรมการการประชุมสภาผู้แทนประชาชนด้วยนั้น กล่าวรอบนอกการประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนจีนที่เปิดฉากขึ้นไปเมื่อวานนี้ว่า ผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตซับไพรม์สหรัฐต่อธนาคารจีนรายใหญ่ๆนั้น มีไม่มากนัก เนื่องจากการลงทุนของธนาคารจีนในตลาดปล่อยกู้เพื่อการจำนองแก่ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำในสหรัฐนั้น ค่อนข้างจะมีปริมาณที่จำกัด
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายหยางกล่าวว่า ธนาคารไอซีบีซีจะเปิดเผยรายงานการดำเนินการปี 2550 ในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งจะอธิบายถึงภาพที่ชัดเจนและแม่นยำของการลงทุนในหลักทรัพย์ที่หนุนการจำนองของธนาคาร และยอมรับว่า ผลกระทบทางอ้อมของวิกฤตซับไพรม์ที่มีต่ออุตสาหกรรมแบงค์จีนนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมทั้งการบริหารธนาคารพาณิชย์เช่นกัน
ทางด้านนายเจียง เจ้าเหลียง ประธานบอร์ดแบงค์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ และสมาชิกของคณะกรรมการฯ กล่าวว่า วิกฤตซับไพรม์เป็นเสมือนบทเรียนให้กับแบงค์จีนในเรื่องการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมสินเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว แบงค์ไม่ควรจะปล่อยกู้แก่ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ และวิกฤตซับไพรม์ก็เป็นเพียงผลพวงที่เกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์
สำหรับนายหม่า เวยฮัว ประธานธนาคารไชน่า เมอร์ชานท์ แบงค์ ก็มีความคิดเช่นเดียวกัน และกล่าวว่า วิกฤตซับไพรม์ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กับวงการแบงค์ของจีน และทำให้ธนาคารจีนรับรู้และให้ความสำคัญกับความเสี่ยง และยกระดับการบริหารความเสี่ยง ซึ่งปัจจัยที่สำคัญสำหรับธนาคารคือ การบริหารผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--