ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินเฟ้อปี 63 อยู่ที่ 0.7% ท่ามกลางความเสี่ยงภาวะภัยแล้ง-ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 23, 2019 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2563 น่าจะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ 0.7% (ช่วงกรอบประมาณการที่ 0.4-0.9%) โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องภาวะขาดแคลนน้ำทำการเกษตรที่อาจจะส่งผลต่อราคาอาหารสดในช่วงครึ่งปีแรก และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนม.ค. 63 ที่จะเข้ามาเป็นแรงหนุนเงินเฟ้อ ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 ราคาอาหารสดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 62 ที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำที่ส่วนหนึ่งนำมาใช้สำหรับการทำกสิกรรมนอกฤดูเพาะปลูก อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ (มีปริมาณน้ำน้อย) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2562) โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตรหลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรัง แม้สถานการณ์เอลนีโญจะกลับสู่ภาวะปกติ (Neutral) และจะต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 63  การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 5-6 บาทต่อวันในปี 63 (มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563) ที่น่าจะผลักดันอัตราเงินเฟ้อทางอ้อมให้สูงขึ้นอีก 0.05% จากต้นทุนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น  ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ เช่น การจัดเก็บภาษีความหวานในอัตราใหม่ที่สูงขึ้นเมื่อช่วงเดือนต.ค. 2562 หลังทิ้งช่วงให้ผู้ประกอบการปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี และการเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนส.ค. 63 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าเช่าบ้าน/คอนโดปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 63

อย่างไรก็ดี แม้มีหลายปัจจัยหนุนเงินเฟ้อในปี 63 แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อกำลังซื้อและความต้องการบริโภคสินค้าของคนในประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้แรงหนุนเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์อ่อนแรงลงแล้ว ยังเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการในการปรับขึ้นราคาสินค้า ท่ามกลางการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกับร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ส (E-Commerce) ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกเหนือจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง (Structural factor) อย่างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลงและเน้นการเก็บออมเพิ่มขึ้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีราคาถูกลง

นอกจากนี้ ราคาพลังงานในประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปี 63 ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับผู้บริโภคหันเหไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 63 จะอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล (กรอบประมาณการ 57.0-62.0 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) ลดลงจากปี 62 ที่คาดว่า จะเฉลี่ยอยู่ที่ 63.0 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ