นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการเงินระยะปานกลางที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 แบบยืดหยุ่นในช่วง 1-3% จากเดิมปี 62 อยู่ในกรอบ 2.5% บวก/ลบ 1.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และเพิ่มความยืดหยุ่นภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน
"การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น จะเอื้อให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับเศรษฐกิจการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป"นางนฤมล กล่าว
พร้อมกันนั้น ยังกำหนดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี เนื่องจาก ธปท.มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปมีโอกาสผันผวนได้จากราคาพลังงาน ราคาอาหารสด และปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้า โดยจะมีการติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด หากอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายที่ 1-3% จะมีการชี้แจงให้ รมว.คลัง ทราบถึงสาเหตุและมาตรการที่จะดำเนินการให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันหารือเพื่อติดตามและประเมินกรอบเป้าหมายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อให้ดำเนินการนโยบายการเงินการและนโยบายการคลังสอดประสานกันได้เมื่อมีเหตุจำเป็น
นางนฤมล กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังได้สั่งการให้ ธปท. กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย
ขณะที่ ธปท.เปิดเผยเอกสาร "เป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 2563" โดยระบุว่า ธปท.ปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใหม่เริ่มใช้ในปี 63 กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแบบช่วง 1-3% เปลี่ยนจากเป้าหมายเดิมที่มีค่ากลางที่ 2.5% + 1.5% ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 58
ทั้งนี้ การปรับลดเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป และอัตราเงินเฟ้อไทยที่มีแนวโน้มต่ำลงจากปัจจัยโครงสร้าง อาทิ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงหรือปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น, การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ที่ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นจนผู้ขายปรับราคาสินค้าขึ้นยาก และ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณลดลง จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้การบริโภคสินค้าและบริการในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป
โดยเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายแบบช่วง (ไม่มีค่ากลาง) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกและไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง
ธปท.ระบุอีกว่า ธนาคารกลางหลายแห่ง เช่น เกาหลีใต้ นอร์เวย์ ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อลง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำลงจากปัจจัยโครงสร้าง
พร้อมกันนั้น ในกรอบนโยบายการเงินฉบับใหม่ ยังมีการปรับเกณฑ์การสื่อสารผ่านจดหมายเปิดผนึก (open letter) เมื่ออัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สามารถแสดงความรับผิดชอบและสื่อสารกับสาธารณชนได้ทันการณ์ ไม่ต้องรอถึงสิ้นปีปฏิทิน รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องมองไปข้างหน้า (forward-looking)
ขณะที่เกณฑ์ใหม่ของ กนง.จะออกจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย แต่ถ้าไม่ออกนอกกรอบเป้าหมาย ไม่ต้องมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีฯ จากเกณฑ์เดิม จะมีจดหมายเปิดผนึกเมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีปฏิทินออกนอกกรอบเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม การปรับลดเป้าหมายนโยบายการเงินในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจะเปลี่ยนจากเดิม โดยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายต่อไป โดยการตัดสินนโยบายการเงินภายหลังการปรับเป้าหมายใหม่ยังคงยึดหลักการเดิม ได้แก่
1.ยึดหลัก data dependent พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และพร้อมปรับนโยบายเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยประเมินไว้ และ 2. รักษาสมดุลของการดูแลเป้าหมายนโยบายการเงินทั้ง 3 ด้านให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ได้แก่ (1) การรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง (2) การดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และ (3) การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน