นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามการเสนอของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ในแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 64-67) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ ในปี 64 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.1-4.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น การส่งออกที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น ตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 64 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% ตามแนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 65-67 มีแนวโน้ม ที่ GDP จะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 64 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจาก 0.9-1.9% ในปี 65 มาอยู่ในช่วง 1.0-2.0% ในปี 66 และ 1.2-2.2% ในปี 67 ส่วนสถานะและประมาณการการคลังนั้น คาดว่าประมาณการรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 64 จะเท่ากับ 2.777 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 3.300 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 5.23 แสนล้านบาท, ปีงบประมาณ 65 ประมาณการรายได้เท่ากับ 2.819 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่ายอยู่ที่ 3.336 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 5.17 แสนล้านบาท
ปีงบประมาณ 66 ประมาณการรายได้เท่ากับ 2.913 ล้านล้านบาท ประมาณรายจ่าย 3.415 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 5.02 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 67 ประมาณการรายได้เท่ากับ 3.031 ล้านล้านบาท ประมาณการรายจ่าย 3.506 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 4.75 แสนล้านบาท ขณะที่ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 64 คาดว่าจะอยู่ที่ 45%, ปีงบประมาณ 65 อยู่ที่ 47%, ปีงบประมาณ 66 อยู่ที่ 48.3% และปีงบประมาณ 67 อยู่ที่ 48.6% ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฯ ได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการ 3 ด้าน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ (1) มาตรการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบฯ เช่น ให้สำนักงบประมาณควบคุมรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากร เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น (2) มาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เช่น ให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e - Business) ในต่างประเทศ เป็นต้น (3) มาตรการด้านการรักษาวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะ ต้องให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบฯ ชำระต้นเงินกู้ เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการบริหารรายจ่ายประจำในอนาคตได้