น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเงินกู้แบบผ่อนปรนใน 2 โครงการ รวมกว่า 2 พันล้านบาท ให้แก่ สปป.ลาว 1,380 ล้านบาท ในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 และให้แก่เมียนมา 777 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคเมืองเมียวดี โดยในส่วนแรก ครม.เห็นชอบให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป.ลาว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอริคำไซ ซึ่งเป็นการอนุมัติเงินกู้สำหรับการก่อสร้างในฝั่งลาว ในรูปของการให้เงินกู้วงเงิน 1,380 ล้านบาท เงื่อนไขผ่อนปรน อัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี) โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าสัญญา ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษาต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และใช้กฎหมายไทยบังคับสัญญาเงินกู้ ขณะที่ในสะพานในฝั่งไทยจะมีมูลค่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง "โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถือเป็นสะพานแห่งแรกในการเชื่อมโยงไทย-ลาว-เวียดนาม ภายใต้แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางของประชาชน และการขนส่งเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยลดต้นการเดินทางขนส่งระหว่างกัน ซึ่งจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่ด่านบึงกาฬ ซึ่งในปี 2560 การค้าชายแดนที่ด่านบึงกาฬ มีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต" น.ส.รัชดา ระบุ ส่วนที่สอง ครม.เห็นชอบให้ สพพ.ให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะ) ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 777 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี) มีการใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าสัญญา ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษาเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และใช้กฎหมายไทยบังคับสัญญาเงินกู้ ความสำคัญของเมืองเมียวดี คือเป็นพื้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาและไทยเนื่องจากเป็นพื้นที่การค้าชายแดนกับไทยผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงประณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นเส้นทางการสัญจรของสินค้าและผู้คนจากไทยไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ของเมียนมา "การให้การช่วยเหลือในโครงการนี้จะเสริมสร้างระบบสาธารณูปโภคของเมียวดีให้สามารถรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับเมือง และระดับประเทศบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประชาชนที่อาศัยในเมืองเมียวดีจะสามารถเข้าถึงน้ำประปาได้อย่างทั่วถึงและประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะการได้รับผลกระทบจากมลพิษทางขยะที่น้อยลง"น.ส.รัชดาระบุ