รมว.คลัง จะผลักดันมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นลงทุน-เมกะโปรเจ็คท์ต่อจากภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 4, 2008 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า จะผลักดันมาตรการเร่งด่วนเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและเร่งรัดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คต์ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูล หลังจากวันนี้ ครม.ได้อนุมัติมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว
"ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ยังเหลือเครื่องยนต์เมกะโปรเจ็คต์และเครื่องยนต์ลงทุนภาคเอกชน" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ เชื่อว่า มาตรการทางภาษีที่ ครม.อนุมัติในวันนี้จะทำให้รัฐมีรายได้จากฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) และภาษีจากกำไรจากการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษีสรรพากร ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ประเทศก้าวเข้าสู่การจัดงบประมาณแบบสมดุลเร็วขึ้น โดยรัฐบาลจะยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อไปอีก 3-4 ปี
ส่วนการพิจารณาเรื่องเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณหรือไม่นั้น นพ.สุรพงษ์ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา เพราะหากสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ บางทีอาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มวงเงินขาดดุล หรือเพิ่มการขาดดุลในจำนวนที่น้อยลง
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการทางการเงินที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าจะมีการออกมาตรการทางการเงินที่เหมาะสมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่ยืนยันว่าการดูแลนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะมีการประสานความร่วมมือให้สอดคล้องกัน
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ คงต้องรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกสักระยะ เพราะเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดเก็บรายได้ แต่หากสถานการณืทางเศรษฐกิจดีขึ้นอาจทำให้การปรับโครงสร้างภาษีทำได้ง่ายขึ้นด้วย
ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการทางภาษีที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.ในวันนี้ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ใหญ่มากนับตั้งแต่ปี 35 ที่มีการปรับจากระบบภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้และผู้ประกอบการหลายระดับ แม้จะส่งผลให้รัฐจัดเก็บรายได้ลดลงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท แต่จะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐมีรายได้มากกว่าที่เสียไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ