นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในต้นปีหน้ากระทรวงการคลังจะตั้งคณะกรรมการ เป็นคณะทำงานถาวรดูแลเศรษฐกิจ เพื่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูล ระดมความคิดในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และจะมีมุมมองถึงการดำเนินการในระยะยาว
ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการยกร่างรายละเอียดการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยจะมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รวมถึงภาคเอกชน ที่จะเข้ามาร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด
"สำหรับประเด็นเรื่องการดูแลเงินบาทที่แข็งค่านั้น ธปท. จะเป็นคนดูแล แต่โดยหลักการเรื่องนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งคณะทำงานที่พูดถึงนี้ จะทำหน้าที่ดูแลในหลายประเด็น" นายอุตตม กล่าวหลังจากวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ ธปท. คลัง สภาพัฒน์ ตั้งคณะทำงานเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
นายอุตตม กล่าวว่า การตั้งคณะทำงานดังกล่าวจะแตกต่างไปจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ซึ่งมีระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม แต่คณะทำงานชุดนี้เป็นระดับหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งเป็นทีมเล็กที่ดูลึกลงไปในรายละเอียด และอาจมีข้อเสนอให้ ครม. เศรษฐกิจพิจารณาเห็นชอบหากเห็นว่ามีความจำเป็น
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยปี 63 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ แม้ว่าจะเติบโตไม่ได้เต็มที่ตามศักยภาพ แต่ก็น่าจะดีขึ้น ด้วยปัจจัยของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งจากกำลังซื้อ จากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่จะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความท้าทายจากสถานการณ์การค้าโลกที่ปัจจุบันส่งผลกระทบกับการส่งออกก็ยังเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตาม
ส่วนการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ตามที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้นั้น นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ตั้งขึ้นมาอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องนี้ และจะมีการพิจารณากันอีกครั้งในต้นปีหน้า โดยจะหารือต่อเนื่องจากผลที่ศึกษา
"เรื่องนี้ไม่ใช่จะพิจารณาทีเดียวแล้วเปรี้ยง ทุกอย่างเสร็จ ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อน จึงต้องทำให้รัดกุม เรื่องภาษีไม่มีใครประกาศกันก่อน ดังนั้นจึงต้องมีแนวทาง มีเป้าหมายว่าเราต้องการอะไร นั่นคือ การดูแลแหล่งที่มาของรายได้ประเทศ ให้ระบบภาษีเป็นระบบที่เหมาะสมกับการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงสร้างภาษี และจะโยงไปถึงการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย คณะทำงานไม่ได้ดูแค่ว่าจะปรับลดแค่ไหน อย่างไร แต่จะดูปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม"นายอุตตม กล่าว