คลัง เผยศก.ภูมิภาคพ.ย.ภาคตะวันออก,ตะวันตกได้ลงทุนเอกชน-ท่องเที่ยวหนุน ส่วนภาคอื่นยังทรงตัว-ชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 26, 2019 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัวได้ในภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด รวมถึงการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ ที่ขยายตัวในหลายภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ควรติดตามการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนและการลงทุนในภาคกลางและภาคเหนือ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนชะลอตัวลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 7,277 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่181.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในโรงงานผลิตกรดอะมิโนสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร เครื่องสำอางค์ และเภสัชกรรม ในจังหวัดระยองเป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อยู่ที่ 4,267 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 24.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ -22.1% และ -11.7% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 11.7% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัดโดยเฉพาะชลบุรี และจันทบุรี เป็นต้น

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวที่ 5.9% ต่อปี แต่ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 25 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 112.9 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 0.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 0.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

สำหรับภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนชะลอตัวลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อยู่ที่ 794.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่75.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดเพชรบุรี สอดคล้องกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัว 2.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ -7.1% และ -12.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 37.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.2% อย่างไรก็ดีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ -0.5% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 6,366 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 1,123.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในการผลิตน้ำตาล น้ำตาลทรายดิบ ในจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อยู่ที่ 4,095 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 425.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในโรงงานโรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ในจังหวัดหนองคาย และการลงทุนโรงงานผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนสำหรับกล้องถ่ายรูป ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ -11.6% และ -13.9% ตามลำดับ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัว 2.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.2% อย่างไรก็ดีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 1.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ส่วนกทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 5,058 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 92.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำหมักขยะมูลฝอยในเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อยู่ที่ 7,479 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 88.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในหลายจังหวัด อาทิ นครปฐม สมุทรสาคร และ ปทุมธานี เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ -9.6% และ -1.3% ตามลำดับ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัว 7.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ -0.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน แต่การลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวชะลอตัวลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะด้านการบริโภคภาคเอกชน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัว 7.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ ภูเก็ต กระบี่ และชุมพร สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ระดับฐานราก สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัว 7.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในหลายจังหวัด เช่น พังงา นราธิวาส และปัตตานี เป็นต้น อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลง เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัว -0.8% และ -5.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2562 หดตัว -85.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวชะลอลง 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 7.5% ขณะที่ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ 0.0% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 1.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจชะลอตัว จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติ แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.0% อย่างไรก็ดี ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง

สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ พบว่าการลงทุนภาคเอกชนมีปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2562 หดตัว -5.1% และ -9.8% ต่อปี อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการซึ่งขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ 752% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยมูลค่า 4,787 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายตัว 7.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา แต่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ -20.2% และ -11.9% ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ