ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดภาพรวมสินค้าเกษตรปี 63 ชะลอจากผลกระทบภัยแล้ง ราคาโตในกรอบจำกัด ลุ้นมาตรการภาครัฐหนุนรายได้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2019 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์สินค้าเกษตรโดยรวมในปี 2563 อาจยังให้ภาพชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า จากผล กระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องจากปี 2562 ซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบต่อผลผลิตข้าวและอ้อยในช่วงต้นฤดูการผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ ทางการเกษตรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยหากพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อน พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้จริงทั่ว ประเทศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 21,197 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ระดับ 31,358 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่า 47.9% (YoY) กล่าวได้ว่า ในปี 2563 ไทยอาจยังเผชิญสภาวะแล้งสะสมต่อเนื่องทำให้มีความจำเป็นต้อง จับตาสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและเพาะปลูกตลอดฤดูแล้ง โดยคาดว่าพื้นที่ทางการเกษตร ในภาคเหนือและภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด ซึ่งน่าจะกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก ส่งผล ให้ภาพรวมปริมาณผลผลิตทั้งปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ 2.0% (YoY) โดยเป็นผลฉุดรั้งจากการลดลงของปริมาณผลผลิตข้าวที่มีสัดส่วนผล ผลิตในตะกร้าสินค้าเกษตรมากที่สุด เทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าภาพรวมปริมาณผลผลิตน่าจะทรงตัวในแดนบวกที่ 0.2% (YoY)

หากพิจารณาสถานการณ์น้ำในปัจจุบันเทียบกับสถิติในอดีต พบว่า สถานการณ์มีความใกล้เคียงกับในช่วงปลายปี 2557 โดย ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้จริง ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 21,598 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อประกอบกับการขยายตัวของ พื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา จึงทำให้มีความจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือในการจัดการ ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตเพิ่มเติมสำหรับปีการเพาะปลูก 2563

ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรภาพรวม คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยผลักดันด้านปริมาณผลผลิตรวมที่ลดลง พิจารณาจากราคา สินค้าเกษตรสำคัญที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการ โดยเฉพาะราคาข้าวน่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของภัยแล้งต่อปริมาณผลผลิต และราคาปาล์มน้ำมันที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากผลของมาตรการรัฐในการกระตุ้นอุปสงค์ผ่านการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ทั้งนี้ ยังคงมี ปัจจัยกดดันจากความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกของไทยโดยรวมทุกสินค้าในปี 2563 จะยัง คงหดตัวต่อเนื่องที่ 1.0% (YoY) กดดันให้ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรเติบโตในกรอบจำกัดที่ 1.5 – 2.0% (YoY) ซึ่งปรับตัวลดลงเล็ก น้อยจากปี 2562 ที่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรน่าจะเติบโตที่ 1.6 – 2.4% (YoY) และยังเป็นปีที่ระดับรายได้เกษตรกรยังมีความเปราะ บาง โดยคาดว่ารายได้เกษตรกรน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ -0.5 ถึง 0.0% (YoY) จากปัจจัยความเสี่ยงด้านผลผลิตและปัจจัยกดดันด้าน ราคาสินค้าเกษตรข้างต้น

        สินค้า                          รายละเอียดแนวโน้มราคา

          ข้าว                 ราคาข้าวคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน
                              เป็นผลจากปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังที่น่าจะลดลงจาก
                              ผลกระทบของภัยแล้งแต่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากการส่งออก
                              ข้าวไทยตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้ม
                              เงินบาทที่อาจยังแข็งค่า

          อ้อย                 ราคาอ้อยน่าจะปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิต
                              อ้อยที่น่าจะปรับลดลงในช่วงเปิดหีบอีกทั้งการปรับเปลี่ยนหลัก
                              เกณฑ์การกำหนดราคาน้ำตาลทรายในประเทศซึ่งส่งผลต่อ
                              ราคาอ้อยขั้นต้น อย่างไรก็ดียังคงมีปัจจัยกดดันบางส่วนจาก
                              ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ให้ภาพชะลอตัว เนื่องจาก
                              กำลังการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการน้ำตาลรวม

          มันสำปะหลัง           ราคามันสำปะหลังน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว จากปริมาณผลผลิตที่
                              คาดว่าน่าจะน้อยกว่าความต้องการใช้รวมเพราะผลผลิตบาง
                              ส่วนได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโรคใบด่าง
                              ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อหลักของไทยอาจเริ่มทยอย
                              กลับมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทยบางส่วน

          ยางพารา             ราคายางอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปัญหาโรคใบร่วงที่
                              ระบาดในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบางพื้นที่ของไทย
                              ทำให้ปริมาณผลผลิตโลกรวมลดลงราคายางในตลาดโลกจึงอาจ
                              ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการส่งเสริมอุปสงค์การใช้ยาง
                              ในประเทศและสัญญาการค้ายางล่วงหน้าที่จะช่วยพยุงราคา
                              ยางได้

          ปาล์มน้ำมัน            ราคาปาล์มน้ำมันน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากมาตรการเพื่อ
                              ดูดซับอุปทานส่วนเกินผ่านกลไกการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอ
                              ดีเซล B10 ในประเทศ ทำให้ราคาปาล์มมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น
                              ต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2562 ได้ อีกทั้งยังคงมีปัจจัยบวกจาก
                              ราคาน้ำมันปาล์มดิบโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์       ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น่าจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ซึ่งยังคงสามารถ
                              รักษาระดับราคาเดิมไว้ได้ เนื่องจากความต้องการรับซื้อสำหรับ
                              การผลิตอาหารสัตว์ยังคงมีต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากปัจจัยความเสี่ยงด้านผลผลิตและปัจจัยกดดันด้านราคาสินค้าเกษตรข้างต้น ทำให้ปี 2563 ยังเป็นปีที่ระดับรายได้เกษตรกรยังมีความเปราะบาง ดังนั้นภาครัฐน่าจะยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายการเกษตรเพื่อช่วยเหลือ ต้นทุนการเพาะปลูกและยกระดับรายได้เกษตรกรต่อเนื่องจากปี 2562 โดยมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้นที่มีกรอบเวลาการ ดำเนินการจำกัด ซึ่งภาครัฐอาจพิจารณาขยายระยะเวลาบางมาตรการหรือออกมาตรการต่อเนื่องระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้

1) มาตรการช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการเพาะ ปลูกส่วนใหญ่เป็นลักษณะเงินให้เปล่าในช่วงฤดูการผลิตและเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของเกษตรกรในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตร ตกต่ำ ซึ่งมักใช้ควบคู่กับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาผ่านกลไกการกระตุ้นอุปสงค์และการจัดการอุปทานในตลาด เช่น มาตรการกระตุ้น การใช้ยางพาราของหน่วยงานรัฐ มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว เป็นต้น

2) มาตรการช่วยเหลือด้านรายได้เกษตรกร เป็นลักษณะการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคารับประกันและราคาอ้างอิง จากราคาตลาดในช่วงเวลาหนึ่ง ในกรณีที่ราคาตลาดตกต่ำหรือมีความผันผวนเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถรักษาระดับรายได้จากการขาย สินค้าเกษตรไว้ได้ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นที่การรักษาระดับรายได้เกษตรกรมากกว่าการแทรกแซงราคาสินค้าโดยตรง แต่อาจทำให้ เกิดการเร่งผลิตในกลุ่มสินค้าเกษตรที่สามารถขยายพื้นที่การเพาะปลูกได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดตามมาได้

ถึงแม้มาตรการทั้ง 2 รูปแบบ จะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนและน่าจะมีผลบิดเบือนตลาดในระดับจำกัด แต่การให้ ความสำคัญกับมาตรการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการ สร้างเสถียรภาพสินค้าเกษตระยะยาว

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลจากการที่ภาครัฐมีการดำเนินนโยบายทางการเกษตรต่อเนื่องจากปี 2562 น่าจะช่วยผลักดันให้รายได้ เกษตรกรในปี 2563 เป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.0 – 0.7% (YoY) กรณีรวมผลของโครงการประกันรายได้เกษตรกร

อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นคงจะต้องมีการติดตามประเมินผลใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีความจำเป็นในการ พิจารณามาตรการอื่นควบคู่กันอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ตลาด ในขณะเดียวกันการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับนโยบายการเกษตรเพื่อ ยกระดับสินค้าเกษตรไทยและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาวจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยอย่าง แท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ