นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า การศึกษา "โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้" ที่มีศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นที่ปรึกษาโครงการฯนั้น คาดว่าจะสรุปผลเบื้องต้นได้ในช่วงเดือนเม.ย. ล่าช้าจากแผนเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 62 ทำให้คาดว่าการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จในปลายปี 63
ทั้งนี้ การนำเสนอรายงานเบื้องต้นของนิด้าเมื่อปลายเดือนธ.ค. 62 เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น ยังมีข้อมูลไม่ชัดเจนจึงให้กลับไปปรับปรุงรายงานใหม่ นอกจากนี้นิด้าจะต้องจัดทำการรับฟังความเห็นให้ครบ 4 ครั้งภายใน 1-2 เดือนนี้ หลังจากที่ได้จัดรอบแรกไปเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา และจะต้องจัดทำ รอบ 2 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เร็ว ๆ นี้ ส่วนรอบสุดท้ายจะจัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ ซึ่งจะเชิญแกนนำทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินและฝ่ายที่เห็นต่างมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นคาดว่าผลสรุปที่จะออกมาในเดือนเม.ย. น่าจะชี้ได้เพียงว่าจังหวัดกระบี่และสงขลา ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่เท่านั้น ส่วนภาพรวมทั้งภาคใต้ ที่ต้องศึกษาว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีจะสร้างที่ใดและจำนวนเท่าใด รวมถึงถ้าไม่มีจะใช้เชื้อเพลิงใดทดแทน ทางนิด้า จะต้องจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จปลายปี 63 และจะนำเสนอคณะกรรมการ SEA จากนั้นจะเสนอรมว.พลังงาน พิจารณาให้ความเห็นต่อไป
สำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว ปัจจุบันคืบหน้าไปแล้ว 40% โดยหากผลการศึกษาฯ พบว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ จะนำไปสู่การบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP) ต่อไป