ครม.เห็นชอบหลักการโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 256.9 MW

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 2, 2020 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จำนวน 256.9 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นแผนงานที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)นำเสนอ

โดยแนวทางการดำเนินโครงการแบ่งเป็น 3 กระบวนการ คือ 1.กระบวนการต้นทาง ได้แก่ การจัดสรรปัจจัยการผลิตที่จำเป็นให้กับประชาชนในพื้นที่, การส่งเสริมให้จัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยง/เพาะพันธุ์กล้าไม้พืชพลังงานในระดับชุมชน, เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนในเรื่องพืชพลังงาน

2.กระบวนการกลางทาง ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์รวบรวมวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตร, ส่งเสริมให้มีสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปสินค้า

และ 3.กระบวนการปลายทาง ได้แก่ จัดทำข้อเสนอการบริหารกิจการพลังงานโดยการขอรับการจัดสรรอัตราการผลิตไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, กำหนดสัดส่วนการลงทุน 3 กลุ่ม คือ ประชาชนในพื้นที่ 40% ภาคเอกชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 30% และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และภาคเอกชนนอกพื้นที่ 30%

ให้มีคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และจัดตั้ง "กองทุนพลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยนำรายได้จากผลกำไรสุทธิไม่เกิน 10% ของโรงไฟฟ้า มาเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนสร้างอาชีพให้กับประชาชน เป็นต้น โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีหลังจาก ครม.อนุมัติ

สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 5 ปี ประมาณ 19,764 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 3,952.8 ล้านบาท แหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายมาจาก 3 ส่วน คือ 1.งบประมาณ 359 ล้านบาท/ปี 2.งบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 1,437.52 ล้านบาท/ปี และ 3.งบจากภาคเอกชนที่ร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าประชารัฐ 2,156.28 ล้านบาท/ปี โดยคาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าขนาด 1.5-2 เมกะวัตต์ จำนวน 100 แห่ง

สำหรับโครงการนี้จะก่อให้เกิดงบเพื่อการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 24,700 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ให้สามารถพึ่งพาตนได้ เกิดความมั่นคงทางพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ