SCBEIC ชี้แนวโน้มบาทปีนี้ยังแข็งค่า มองกรอบ 29.50-30.50 เหตุยังเกินดุลสูง-เงินไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 3, 2020 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ประเมินเงินบาทในปี 2563 จะยังเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าอยู่ต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่น้อยลงจากปี 2562 โดยมองว่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ในกรอบ 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก ไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลในระดับสูง ขณะที่ความต้องการลงทุนในต่างประเทศยังต่ำ (home bias ยังคงสูง) จึงทำให้มีความต้องการเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐในปริมาณมาก อีกทั้งดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสปรับอ่อนค่าลงได้เล็กน้อยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนที่ช่วยให้เงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นเร็วมากเท่าในปีก่อน คือ การลงทุนในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยอาจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้าง การขายทำกำไรทองคำมีแนวโน้มลดลง และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ ที่อาจกว้างขึ้นได้

อีไอซี ระบุว่า เงินบาทในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่จับตามองจากหลาย ๆ ฝ่าย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าการแข็งค่าอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลจากสภาพคล่องในตลาดเงินที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงวันหยุดเทศกาล ทำให้การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราไม่สมดุล อีกทั้งยังเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ อีไอซีได้ปรับมุมมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 63 อยู่ในกรอบ 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (จากคาดการณ์เดิม ณ รายงาน Outlook ของไตรมาสก่อนที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) โดยค่าเงินบาทในปี 62 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 4.1% จากปี 61 สำหรับในในปีนี้ เงินบาทมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าอยู่ต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่น้อยลงจากปีก่อน

สำหรับสาเหตุที่คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยดังนี้

1. ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยในปี 63 จะยังคงเกินดุลสูงใกล้เคียงในปี 62 เนื่องจาก 1) มูลค่าการส่งออกและนำเข้าในปี 63 มีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อน 2) ภาคการท่องเที่ยวจะยังคงขยายตัวแม้ในอัตราที่ชะลอลง และ 3) การลงทุนในประเทศจะยังอยู่ในภาวะซบเซา จึงทำให้โดยรวมแล้วการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยแม้จะชะลอลงแต่ยังคงเกินดุลในระดับสูงที่ประมาณ 6% ต่อ GDP ขณะที่ความต้องการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศยังมีต่ำ ซึ่งจะทำให้ความต้องการเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีอยู่มาก

นอกจากนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศที่มาก ก็จะยังทำให้เงินบาทมีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของภูมิภาค (regional safe haven) ต่อไป ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคในช่วงที่ความเชื่อมั่นลดลง

2. ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกปรับลดลง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (EM-Asia) รวมถึงไทย โดยการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความคืบหน้า (phase 1 deal) ไปนั้น เป็นปัจจัยที่ลดความเสี่ยงด้านต่ำของภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศ EM-Asia อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนความเสี่ยงจากสถานการณ์ Brexit ก็ปรับดีขึ้นเช่นกัน หลังพรรค Conservative ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 63 ซึ่งอีไอซีมองว่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับสูงขึ้น และมีเงินทุนไหลกลับเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้

3. ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสปรับอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ โดยอีไอซีพบว่า ในเวลาที่เศรษฐกิจโลกปรับแย่ลง จะทำให้มีความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสกุลเงินหลักของโลกและมีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกลดลง ก็จะทำให้ความต้องการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงมา

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะไม่อ่อนค่าลงมากนัก เนื่องจากถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 63 แต่ธนาคารกลางสำคัญอื่น ๆ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายกว่า โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แต่ก็จะยังดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านการทำ quantitative easing (QE) ต่อไป

นอกจากนี้ โอกาสที่ ECB และ BOJ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ก็มีสูงกว่า Fed ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เงินยูโรและเงินเยนจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐได้ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอังกฤษและยุโรปอาจทำให้เงินยูโรและเงินปอนด์อ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

4. ข้อจำกัดของ ธปท.ในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยน การผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีส่วนช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้น ๆ อ่อนค่าลงได้ อย่างไรก็ดี ด้วยขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ที่มีจำกัดมากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในประวัติการณ์ ทำให้ความสามารถในการดูแลค่าเงินบาทผ่านช่องทางนี้ลดลง

นอกจากนี้ ไทยยังต้องเผชิญต่อความเสี่ยงที่อาจถูกจัดเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) โดยกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จึงทำให้ ธปท. อาจไม่สามารถดูแลค่าเงินบาทได้มากเท่ากับในอดีต ดังนั้นโอกาสที่เงินบาทต้องเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าจึงจะมีอยู่ต่อไป

5. เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่า อาจทำให้ค่าเงินในภูมิภาครวมถึงเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตาม ในช่วงที่สงครามการค้าทวีความรุนแรง เงินหยวนปรับอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก ทำให้สินค้าจีนมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาต่อประเทศอื่น ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าคู่แข่งของจีน ค่าเงินสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกสินค้าคล้ายคลึงกับจีนจึงปรับอ่อนค่าลงตาม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเงินบาทปรับอ่อนค่าตามหยวนในช่วงสงครามการค้าทวีความรุนแรงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับในระยะต่อไปที่สงครามการค้ามีแนวโน้มลดความรุนแรงลง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จึงทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และด้วยเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง จะยิ่งทำให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นตามเช่นกัน

อีไอซีประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทในปี 63 จะลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 62 เนื่องจากสาเหตุดังนี้

1. ดุลบัญชีการเงินไทย (financial account) อาจขาดดุลมากขึ้นได้เล็กน้อย จากแนวโน้มการออกไปลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มสูงขี้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 63 มีโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ส่วนหนึ่งจะมาจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค รวมถึงความไม่แน่นอนภายในประเทศที่ยังมีค่อนข้างมาก นอกจากนี้ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การออกไปลงทุนของ ธปท. น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มออกไปซื้อ/ควบรวมกิจการต่างประเทศ รวมถึงช่วยให้การลงุทนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ อีไอซี จึงประเมินว่าดุลบัญชีการเงินไทยอาจขาดดุลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินบาทผ่านการเกินดุลการชำระเงิน (balance of payment) ที่ลดลง

2. แรงกดดันจากการขายทำกำไรทองคำมีแนวโน้มลดลง ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับลดลง (risk-off sentiment) และหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำมากขึ้น ราคาทองคำจึงปรับสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว ซึ่งนักลงทุนทองคำในไทยบางส่วนมักจะขายทองคำออกสู่ตลาดทองคำโลก เพื่อทำกำไรจากราคาที่ปรับขึ้น ทำให้มีความต้องการแลกเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้จากการขายทองคำกลับมาเป็นเงินบาท ค่าเงินบาทจึงมักปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงดังกล่าวเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลงในปีหน้า การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำอาจมีแนวโน้มชะลอลงหรือปรับลดลงได้ จึงทำให้แรงกดดันต่อเงินบาทจากปัจจัยนี้มีน้อยลง นอกจากนี้ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการแลกเปลี่ยนเงินของ ธปท. ที่อนุญาตให้ผู้ค้าทองคำสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป จะช่วยลดแรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทในปีหน้าได้เพิ่มขึ้น

3. แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยและประเทศเศรษฐกิจหลัก หากเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาด จนทำให้ต้องมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของไทย ยิ่งปรับลดลงต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนอาจเลือกออกไปลงทุนในสินทรัพย์ประเทศอื่นที่มีผลตอบแทน (carry return) สูงกว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่คาดว่าอาจไหลเข้าไทยได้ก็อาจมีน้อยลงหรืออาจมีการไหลออก เงินบาทจึงอาจอ่อนค่าได้

อย่างไรก็ดี การศึกษาของอีไอซีที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อค่าเงินบาทเพียงเล็กน้อย และมีอิทธิพลน้อยกว่าปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ขนาดดุลบัญชีเดินสะพัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ