(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เผยเตรียมเสนอแพคเกจช่วย SME เข้าครม.สัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 3, 2020 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอแพ็คเกจช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) กว่า 1 แสนรายให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า (7 ม.ค.)

โดยก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรก เป็นผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหรือได้รับผลกระทบรุนแรง และต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้ธุรกิจอยู่รอด ส่วนกลุ่มสอง คือกลุ่มที่ยังมีสถานะพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อได้ แต่ต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

สำหรับกลุ่ม SME ที่มีปัญหา แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย และมีปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายการค้ำประกันเพิ่มจากปัจจุบัน 30% แต่ไม่เกิน 50% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในมาตรการแรกจะใช้วงเงินจากกองทุนเอสเอ็มอี จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 3-5 พันล้านบาท ใช้ดูแลกลุ่มลูกหนี้ในมาตรการได้ 50% หรือประมาณ 5 หมื่นราย

และกลุ่ม SME ที่ดำเนินการปกติ ไม่ได้มีปัญหา แต่ต้องการเงินทุนเพิ่มจะให้ธนาคารกรุงไทย (KTB) ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อ 4 หมื่นล้านบาท และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ร่วมปล่อยกู้เพิ่ม ซึ่งจะครอบคลุมลูกค้าอีก 30% หรือประมาณ 3 หมื่นราย

ส่วนผู้ประกอบการ SME ที่เป็น NPL จะให้ บสย.ชะลอการฟ้องร้อง เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพิ่มกระบวนการจากเดิม 5 เป็น 7 ปี และให้สามารถเพิ่มสินเชื่อได้ มาตรการนี้ครอบคลุมลูกหนี้ 20% หรือประมาณ 2 หมื่นราย

"มาตรการดังกล่าวที่ออกมา ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และ บสย. โดยไม่ได้มีการใช้งบประมาณเพิ่มเติม เป็นเงินสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จะเข้าไประบบ การดูแล SME จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา" นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2563 กระทรวงการคลังจะมีมาตรการในการดูแลกลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการดูแลเรื่องสภาพคล่องในระบบด้วย ส่วนการผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) นั้น อยู่ระหว่างหารือกับ ธปท. ยังไม่ได้ข้อสรุป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ