นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ร่วมแถลงข่าว "มอบของขวัญปีใหม่ การขับเคลื่อนภาคการเกษตร ปี 2563"
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความมุ่งมั่นในการผลักดันนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืน และการเตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบกับเกษตรกรและประชาชนโดยตรง ซึ่งนโยบายและแผนงานที่สำคัญในปี 2563 ประกอบด้วย
1. การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ โดยจะมีการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแก้มลิง โดยจะดำเนินการในปี 2563 รวมทั้งสิ้น 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่ และปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในปี 2563 โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ในปี 2563 มีแนวโน้มที่จะประสบภัยแล้งถึงเดือนพฤษภาคม จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ หรือทำแก้มลิงในทุกลุ่มน้ำ พร้อมทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในส่วนของน้ำใต้ดินมาใช้ในการอุปโภค-บริโภค และการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ขณะเดียวกัน จะมีการผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะเพิ่มเครื่องจักรส่งน้ำมายังแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณ 2,000 ล้านลบ.ม.ต่อปี เพื่อใช้เป็นน้ำอุปโภคและบริโภค และเพื่อภาคการเกษตร
รวมถึงจะมีปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้ และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ และได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว เพื่อติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศ และสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11-13 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 230 ล้านไร่
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.62 - 30 เม.ย.63 จำนวน 17,699 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 7,006 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63) รวม 10,540 ล้าน ลบ.ม. เกษตรฤดูแล้งปี 2562/63 7,874 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 519 ล้านลบ.ม.
รวมถึงจะมีการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ จำนวน 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นา ให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลา ตกกล้า ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย
2. ส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์และส่งเสริมเกษตรยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา โดยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ด้วยการสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ได้แก่ การใช้พืชปุ๋ยสด ชนิดต่าง ๆ ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งใช้จุลินทรีย์เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช โดยปี 2563 มีเป้าหมายสนับสนุนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ 3 ระดับ ดังนี้ กลุ่มเตรียมความพร้อม สนับสนุนปัจจัยการปรับปรุงดิน และกระบวนการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (PGS) 1,575 ราย พื้นที่ 15,750 ไร่
รวมถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่กระบวนการผลิตทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง จำนวน 481,000 ไร่ และอบรมให้ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ด้านพืช ประมง หม่อนไหม บัญชี และการใช้ชีวินทรีย์ รวม 10,550 ราย ตรวจรับรองแปลงพืชอินทรีย์ 3,200 ฟาร์ม โรงงานแปรรูป/คัดบรรจุ/โรงรม จำหน่ายพืชอินทรีย์ 80 ฟาร์ม พร้อมรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ 2 แห่ง
สำหรับส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เน้นตรวจสอบปัจจัยการผลิต/ศัตรูพืช การออกใบรับรอง และควบคุมกำกับดูแล พ.ร.บ. โดยตรวจสอบปัจจัยการผลิต/สินค้าพืช/ผลิตภัณฑ์ผลผลิตทางการเกษตร 150,000 ตัวอย่าง ออกใบรับรองสุขอนามัย (ปลอดศัตรูพืช) 300,000 ฉบับ ใบรับรองสุขอนามัยพืช/สารพิษตกค้าง/สารปนเปื้อน 63,000 ฉบับ ใบอนุญาตตามกฎหมาย 100,000 ฉบับ และตรวจสอบร้านค้า/สินค้าเกษตร 52,000 ราย
ส่วนมาตรการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ผ่านการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมี สนับสนุนปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับสารอินทรีย์ต่าง ๆ ได้แก่ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก พด. ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และมาตรการพัฒนาระบบปลูกพืชและเขตกรรมที่เหมาะสม
นอกจากนี้ จะมีมาตรการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรแทนแรงงานเกษตร สร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ด้วยการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านพัฒนาฝีมือแรงงานและภาคเอกชน ในการสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร 4,700 ราย
3. ใช้ระบบตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ, ล้นตลาด ขยายช่องทางตลาดเกษตรกร จัดหาตลาดใหม่เพิ่ม โดยการส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าที่ดี มีคุณภาพ นำผลิตภัณฑ์สินค้าจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ ภายใต้ชื่อ "Co-op click" รวมถึงนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร ของกระทรวงเกษตรฯ สู่ไทยแลนด์ 4.0 และเกษตร 4.0 ในการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ ตามแนวทางนโยบายตลาดนำการเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์อย่างต่อเนื่อง อาทิ DGTFarm หรือดิจิตอลฟาร์ม ผ่านทาง www.dgtfarm.com และ อตก.เดลิเวอรี่ ผ่านทาง www.ortorkor.com
ทั้งนี้ จะมีการสร้างตลาดออนไลน์โดยร่วมมือกับ LAZADA Thailand โดยจะมีการ Kick off ในเดือนม.ค.63 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับทีมบริหารงานผู้ขายลาซาด้า เพื่อสร้างโอกาสร่วมกันให้กับสินค้าเกษตรและเกษตรกรไทย สามารถเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า เพื่อนำสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในเบื้องต้นจะเน้นจัดกิจกรรมอบรมทักษะให้แก่กลุ่มเกษตรกรในระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และกลุ่ม Young Smart Farmer
อีกทั้งส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพการแปรรูปข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว การแปรรูปสัตว์น้ำ พร้อมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาด
4.ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยลง 30% รวมถึงส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรในการผลิตปุ๋ยใช้เอง (ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยชีวภาพ) เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ตรงตามความต้องการของตลาด และสอดคล้องสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง
รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน ทั้งในส่วนของมันสำปะหลัง โดยผลิตพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพดี 20 ล้านท่อน และส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรมันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพดี 300,000 ต้น 500,000 เมล็ดงอก และส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรปาล์มน้ำมัน
5.การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา IUU โดยการปรับปรุงการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับวิถีการทำประมงมากขึ้น และการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 โดยมีเรือประมงที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 2,768 ลำ รวมถึงการเพิ่มวันทำประมง โดยฝั่งอ่าวไทย: เรือประมงอวนล้อม เรือประมงอวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก และอวนช้อน/ยกปลากะตัก ให้สามารถทำการประมงได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.63 โดยไม่นับจำนวนวันทำการประมง : ส่วนเรืออวนลาก จะได้รับวันทำการประมงเพิ่มอีกลำละ 30 วัน และฝั่งทะเลอันดามัน : เรือทั้งหมดสามารถออกทำการประมงได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563โดยไม่นับจำนวนวันทำการประมง
นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมอาชีพและการจัดหาตลาด โดยกรมประมงได้ส่งเสริมอาชีพมุ่งเน้นที่จะเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคและสร้างรายได้ โดยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรทุกระดับ ทั้งด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูป ตั้งแต่เพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน จำหน่ายเป็นเป็นรายได้เสริมและสามารถประกอบเป็นอาชีพได้อย่างมั่งคง โดยการฝึกอบรมให้ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และสนับสนุนปัจจัยการผลิต แบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ ด้านการทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
6. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร ด้วยการจ้างงานของกรมชลประทานในหน้าแล้ง สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ซึ่งดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ วงเงินประมาณ 3,100 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลาระหว่าง 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท /คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ดำเนินการ ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้งนี้
อีกทั้งจะมีการจัดที่ดินทำกิน (สปก.) ให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบการถือครองที่ดินฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ใน 69 จังหวัด จำนวน 397,235 ราย 519,087 แปลง เนื้อที่ 5,303,031 ไร่ โดยมีแผนงานจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรในปี 2563 จำนวน 62,000 ราย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 2,350 ราย คิดเป็น 2,846 แปลง เนื้อที่ 26,763.48 ไร่
รวมถึงการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีความต้องการของตลาด (โค/กระบือ/แพะ) โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมปศุสัตว์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1)โครงการส่งเสริมการผลิตโคเนื้อ กิจกรรมการเลี้ยงโคขุน 2) โครงการส่งเสริมการผลิตกระบือ 3) โครงการส่งเสริมการผลิตแพะเนื้อ 4) โครงการการส่งเสริมการผลิตไก่พื้นเมือง 5) กิจการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศตามศักยภาพและแผนธุรกิจที่มีความชัดเจน ได้แก่ ธุรกิจศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) การผลิตพืชอาหารสัตว์ การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ธุรกิจการส่งขนและการกระจายสินค้า (Logistics) เป็นต้น โดย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อให้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมและป้องกันโรคสัตว์ โดยเฉพาะการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยรณรงค์ฉีดวัคซีนฟรีป้องกันโรคทั่วประเทศ ระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.63 จะมีการ kick off ทั่วประเทศ (พิธีเปิดการรณรงค์) ในช่วงต้นเดือน มี.ค.63 รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมวจรจัดและด้อยโอกาสสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า จากเดิมปี 2562 จำนวน 300,000 ตัว/ปี เป็นจำนวน 600,000 ตัว/ปี
7. จัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data) และศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC)
- จัดตั้งศูนย์ Big Data ด้านการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้จัดทำโครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ หรือ National Agricultural Big Data ขึ้น เพื่อต้องการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภาคการเกษตรอย่างครบวงจร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของระบบการผลิตด้านการเกษตร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งระบบฐานข้อมูลการเกษตรแห่งชาตินี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) และBig Data ด้านสินค้าเกษตร ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประกอบในงานเชิงนโยบายและการกำหนดยุทธศาสตร์ของผู้บริหารภาครัฐ แต่วิวัฒนาการทางด้านการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงโลกตามยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หรือ Disruptive Technology ส่งผลให้การบริหารจัดการภาคการเกษตร ต้องอาศัยข้อมูลที่ดี มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การทำการเกษตรแม่นยำ Precision Farming และหลักการตลาดนำการเกษตร
การบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสินค้าเกษตร ทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวม 10 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ13 สินค้า ประกอบด้วย 1) ข้าว 2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3) สับปะรดโรงงาน 4) มันสำปะหลังโรงงาน 5) อ้อยโรงงาน 6) ยางพารา 7) ปาล์มน้ำมัน 8) ลำไย 9) เงาะ 10) มังคุด 11) ทุเรียน 12) มะพร้าว และ 13) กาแฟโดยมีรายละเอียดของข้อมูลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สามารถเข้าใช้งานได้ที่ bigdata.oae.go.thทั้งนี้ จะสามารถเปิดให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไปเข้าดูรายงานและใช้ข้อมูลในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานต่าง ๆ ตามสิทธิ์การเข้าถึง โดยกำหนดให้สามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2563
- จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-technology and innovation center: AIC) โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งรูปแบบจะเป็นการทำงานลักษณะศูนย์ Agritechในระดับภูมิภาค บูรณาการร่วมกันใน 6 ภาคี คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวม 77 จังหวัด ซึ่งจะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยมีรูปแบบเป็น Center Excellent เน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน มีการรวบรวม ช่างเกษตร ปราชญ์เกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึง Smart และ Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมความรู้ e-commerce รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบการรับรองต่าง ๆ เพื่อให้ก้าวสู่ศูนย์เกษตร 4.0 ในระดับภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2563 นี้
- ตรวจสอบศักยภาพพื้นที่โดยใช้ Agri-Map เพื่อจัดทำ Zoning กำหนดเขตการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) โดยการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตร โดยจัดทำระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือในการวางแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมด้านกายภาพ และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งด้านกายภาพใช้ข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของดิน ด้านเศรษฐกิจใช้ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทน แหล่งรับซื้อ โรงงาน การตลาด
โดยในปี 2563 จัดทำแผนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญครบวงจร จำนวน 7 สินค้า และศึกษาสินค้าหรือกิจกรรมทางเลือก เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงสนับสนุนมาตรการจูงใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเดิมไปปลูกพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม เป้าหมายจำนวน 100,000 ไร่ และผลักดันการปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมเพื่อยกระดับรายได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต
8. พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์หลัก ทุกอำเภอทั่วประเทศ เป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายการเกษตร องค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด แก่เกษตรกร ร่วมกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน