นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย มองว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะยกระดับไปสู่สงครามหรือไม่ แต่ในระยะสั้นส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อไทยในแง่ของอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ หลังจากที่ไทยอยู่ในภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำต่อเนื่องมาหลายปี
"การที่เงินเฟ้อต่ำ ทำให้ธุรกิจไม่สามารถขยับราคาสินค้าได้ ซึ่งจะไปผูกโยงกับค่าจ้างแรงงานที่จะปรับขึ้นได้น้อย ส่งผลให้กำลังซื้อน้อยตาม นี่เป็นภาวะของประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ แต่เมื่อราคาน้ำมันขยับขึ้นก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่เคยต่ำมากๆ มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นได้" นายพชรพจน์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้การส่งออกสินค้าที่อิงกับราคาน้ำมัน รวมทั้งสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวดีขึ้น และทำให้มีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่จากข้อมูลสถานการณ์ในปัจจุบัน ประเมินว่าหากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ก็น่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยช่วงไตรมาสแรกปีนี้ในรูปของดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มจะเป็นบวกได้ ขณะที่ทั้งปี 63 ปัจจุบันประเมินว่าการส่งออกไทยจะหดตัว -0.7% และเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 2.8%
"ถ้าสถานการณ์ยังตึงเครียดแบบนี้ และราคาน้ำมันดิบยืนอยู่ในระดับ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็จะเป็น benefit ต่อประเทศไทย แต่ถ้าสถานการณ์บานปลายถึงขั้นเป็นสงครามระหว่างสหรัฐกับตะวันออกกลาง การส่งออกไปตะวันออกกลางจะหยุดชะงัก logistic ต่างๆ ได้รับผลกระทบ ทั้งการบิน การเดินเรือ ตรงนี้เราคงต้องมาทบทวนตัวเลขของปีนี้กันใหม่" นายพชรพจน์ ระบุ
สำหรับผลในระยะสั้นต่อตลาดเงินตลาดทุนนั้น นายพชรพจน์ มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจะทำให้ตลาดทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น หุ้นอาจปรับลดลง นักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยแทนสินทรัพย์อ้างอิงดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น ทั้งทองคำ และพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนผลในระยะต่อไปนั้น คงต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวว่าจะถูกยกระดับจนนำไปสู่การเดินเข้าสู่ภาวะสงครามหรือไม่
ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่สำหรับเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในปีนี้ โดยล่าสุด ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 จะเติบโตได้ 2.7% (กรอบ 2.5-3.0%) ขณะที่ให้มุมมองการเติบโตของการส่งออกปีนี้ไว้อย่างระมัดระวังที่ -1% (กรอบ -2 ถึง 1%) จากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว รวมทั้งเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า
"เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการส่งออกของไทยที่เราเคยประเมินไว้ แต่ล่าสุดมีความเสี่ยงเพิ่มเติมเข้ามา คือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ซึ่งต้องรอดูว่าเหตุการณ์ความตึงเครียดนี้จะยกระดับไปมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้จากทางอิหร่าน หรือฝ่ายสหรัฐฯ จะดำเนินการอะไรมากกว่านี้หรือไม่ ดังนั้นจึงยังเร็วเกินไปที่เราจะทบทวนตัวเลขของปีนี้ ต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลต่อราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้น และส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ รวมถึงหนุนให้สินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีราคาสูงขึ้นด้วย แต่ในแง่การส่งออกสินค้าจากไทยไปอิหร่านคงไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก เนื่องจากที่ผ่านมาอิหร่านถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐ จึงทำให้การค้าขายระหว่างอิหร่านกับประเทศต่างๆ ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก
"ถ้าเหตุความตึงเครียดถูกยกระดับขึ้น เบื้องต้นต้องดูว่าจะกระทบต่อการขนส่งสินค้ามากน้อยเพียงใด ความจำเป็นในการนำเข้าสินค้าของอิหร่านอาจจะมีเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนค่าขนส่งก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน" น.ส.เกวลิน กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"