"สมคิด"ลั่นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน EEC มูลค่า 6.5 แสนลบ.ต้องเกิดภายในปีนี้หวังดึงความเชื่อมั่นต่างชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 6, 2020 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC โดยขอให้ขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC ให้เกิดขึ้นและแข็งแรง เพื่อไม่ให้นักลงทุนไขว้เขวในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ทั้ง 5 โครงการ มูลค่ารวม 6.5 แสนล้านบาท จะต้องเริ่มลงมือก่อสร้างภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งขีดเส้นภายใน 3 เดือนจะต้องได้ข้อสรุปและเห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะเป็นโครงการที่มีความสำคัญและล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้เดิม

พร้อมทั้งมอบหมายให้ EEC เตรียมความพร้อมให้ครบทุกอย่างไม่ต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินกรณีที่มีเอกชนยื่นร้องเรียนเรื่องที่ถูกตัดสิทธิเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากศาลฯ มีคำตัดสิน เพราะเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.ได้รายงานในที่ประชุมบอร์ด EEC ในวันนี้ว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/63 หรือภายในเดือน มี.ค.นี้แน่นอน เพราะคาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินคดีที่เอกชนร้องเรียนว่าถูกระงับสิทธิการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ภายในเดือน ม.ค.นี้

นอกจากนี้ นายสมคิด ยังได้สั่งการให้สำนักงาน EEC เร่งดำเนินการโครงการสมาร์ทซิตี้ (EECi) ที่จะต้องให้ตกผลึกภายในปีนี้ เพราะล่าช้ามานาน โดยให้ตั้งคณะทำงานผลักดันโครงการภายในวันพรุ่งนี้ คาดว่าจะเปิดประมูลงานที่เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวได้ในไตรมาส 3/63 หรือไตรมาส 4/63 นี้

ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO) จะต้องเร่งผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปี 63 เช่นกัน หลังจากที่ผ่านมาล่าช้าเพราะติดรายละเอียดการลงทุนระหว่างแอร์บัสกับบมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญาได้ภายในไตรมาส 2/63 โดยโครงการนี้จะใช้พื้นที่ 200 ไร่ จากทั้งหมด 500 ไร่ ส่วนที่เหลือ 300 ไร่จะจัดสรรให้เอกชนรายอื่นมาทำศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานได้อีก 3 ราย โดยทางกลุ่มแอร์เอเชียได้ขอพื้นที่ไว้แล้ว 60 ไร่

นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กลุ่มซีพี การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สำนักงาน EEC ได้หารือเกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และปีนี้เอกชนจะเข้ากระบวนการที่จะมาดูแลรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ รวมทั้งจะใช้เวลาออกแบบโครงการ และปลายปีนี้คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้

รวมทั้งโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ก็จะเริ่มงานก่อสร้างได้ ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ศาลปกครองให้คณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการต่อไป ซึ่งศาลใกล้ได้คำตัดสินคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือน มี.ค.นี้

เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ทั้ง 5 โครงการ มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี เฉลี่ยลงทุนปีละกว่า 1 แสนล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนอุตสาหกรรมทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม 4.04 แสนล้านบาท ซึ่งรวมอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ที่ขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกราว 1.2 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีโครงการอื่นที่จะมีการลงทุนอีก เช่น เมืองอัจฉริยะ เหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ปีละ 1.5-2.0%

ขณะที่นายสมคิด กล่าวย้ำว่า โครงการ EEC ได้เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ดังนั้น ในระยะนี้ EEC จำเป็นจะต้องปักเสาเข็มเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าไทยตั้งใจจริงกับโครงการ EEC และยิ่งที่โลกกำลังมีความเสี่ยงในการเกิดสงคราม เชื่อว่าการลงทุนจะยิ่งไหลมายังไทย ดังนั้น ไทยจึงต้องสร้างโอกาสและความเชื่อมั่นในการดึงดูดการลงทุน ปี 63 เน้นเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟความเร็วสูง พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และศูนย์ซ่อมท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่จะต้องเกิดขึ้นในปี 63 และโครงการย่อยๆที่จะต้องเร่งรัดการติดตาม โดยเฉพาะ EECi

"ปีนี้ทำให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างนี้ It's good for Thailand ความคืบหน้า EEC ไปได้ดีมาก ผู้บริหาร EEC ตั้งไข่ได้พร้อมเดินหน้า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ต้องเอาโครงการ Flagship ต้องเกิดให้ได้ รถไฟความเร็วสูงต้องเกิดให้ได้ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องเริ่มให้เร็ว สนามบินอู่ตะเภาไม่น่าจะช้า"นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญภาพรวมการดำเนินงานของ EEC ปี 63 เน้นเรื่องการขยายการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ EEC ได้แก่ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการสร้างรายได้ให้ถึงชุมชน โดยขยายแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง และสร้างโครงการท่องเที่ยวระดับชุมขน อาทิ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม , เชื่อมผู้ประกอบการ SME ไปสู่ตลาดโลกด้วย E-Commerce และผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

รวมทั้งลดผู้มีรายได้น้อยให้หมดไปภายใน 3 ปี ประชากรทั้งหมดในพื้นที่ EEC มีประมาณ 3.4 ล้านคน จะได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตและมาตรฐานสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างงานให้คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน โดยผู้มีรายได้น้อยประมาณ 3.5 แสนคน หรือประมาณ 14% จะเร่งการจัดฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเฉพาะกลุ่ม จัดหางานในพื้นที่ร่วมกับจังหวัด อปท. เอกชน และชุมชน พร้อมจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ

อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา พัฒนาทักษะบุคคลากร กำกับผังเมือง การพัฒนา 3 เกาะ คือ เกาะสีชัง เกาะล้าน และเกาะเสม็ด เป็นพื้นที่ตัวอย่าง รวมทั้งดำเนินการตามแผนสิ่งแวดล้อม การพัฒนาต้นแบบกำจัดขยะครบวงจร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ