นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการเศรษฐกิจ รวมถึง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้มีการพูดคุยและแสดงความเห็นว่าอาจเสนอให้มีการออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน จนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร จะมีความพร้อมในการจัดเก็บบัญชีข้อมูล ตลอดจนให้มีเวลาปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ให้เกิดความสับสนต่อสังคมว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการออก พ.ร.ก.เลื่อนการใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแน่นอน
"พร้อมเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายตามเดิมต่อไป แม้ฝ่ายค้านเสนอให้ออก พ.ร.ก.เพื่อชะลอการใช้ไปก่อน โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ประสานการทำงานกับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด และได้มีการปรับปรุงการทำงานในเชิงปฏิบัติให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด และเชื่อว่าหลังจากนี้การใช้ภาษีที่ดินจะเดินหน้าได้อย่างราบรื่น" นายอุตตม กล่าว
ส่วนกรณีฝ่ายค้านโจมตีว่าการออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ขึ้นมา เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนนั้น ขอยืนยันว่าการออกกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจน เพื่อต้องการสนับสนุนให้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงไม่ได้เป็นการเอื้อให้นายทุนได้ประโยชน์แต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้สามารถชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจได้
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การใช้ภาษีที่ดินไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้คนรวย โดยการเก็บภาษีผู้ปล่อยเช่าในอัตราที่อยู่อาศัยและการเกษตร ถือว่าเป็นไปตามหลักการของกฎหมายฉบับนี้ที่ยึดตามการใช้ประโยชน์ที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการละเว้นให้คนรวยได้ประโยชน์ เพราะในที่สุดรายได้จากการเก็บค่าเช่า เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดินที่ปล่อยเช่าก็ต้องมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกๆ ปีอยู่ดี
ขณะที่นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมาธิการได้พิจารณา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่าได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายฉบับนี้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานร้องเรียนมาว่ารายได้ที่จัดเก็บให้กับท้องถิ่นลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังพบข้อบกพร่องในการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ประชาชนขาดการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถนำกฎหมายไปบังคับใช้งานได้
โดยหลังจากเชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลพบว่า กลุ่มนายทุนหรือผู้ที่มีธุรกิจขนาดใหญ่เสียภาษีที่ดินน้อยลง เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จ่ายภาษีที่ดินลดลงหลายเท่าตัวจาก 60 ล้านบาทต่อเดือน หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังจ่ายภาษีที่ดินเพียง 3 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ส่วน กทม. กำลังสำรวจตัวเลข แต่คาดว่าจะลดลงไปจำนวนมาก เช่น ห้างร้านขนาดใหญ่ ได้รับการยกเว้นภาษี เห็นได้ชัดว่าเป็นประโยชน์กับคนรวย นักธุรกิจ แต่กระทบกับผู้มีรายได้น้อย เมื่อผู้มีรายได้น้อยไม่มีเงินเสียภาษีที่ดิน ก็จำเป็นต้องขายให้นายทุน
นายชวลิต กล่าวว่า เบื้องต้นอาจจำเป็นต้องเสนอให้รื้อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ทั้งฉบับ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะท้องถิ่นที่จะทำให้ขาดเงินให้การพัฒนาพื้นที่ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม