กนง.พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายดูแลเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างเหมาะสมแนะทุกภาคส่วนแร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 7, 2020 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงในการสัมมนา"Analyst Meeting"วันนี้ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้จะแข็งค่าชะลอลงและเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปี 63 ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย กนง.จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม

กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เช่น ด้านแรงงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลง ธุรกิจนำระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้แทนแรงงานมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานเริ่มเปลี่ยนเป็นการรับเหมาบริการและ sub-contract มากขึ้น ซึ่งมีความมั่นคงและสวัสดิการน้อยกว่าการจ้างงานประจำ นอกจากนี้ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

อีกทั้งด้านการลงทุน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่า ประเทศไทยมีการออมสูงและการลงทุนต่ำโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศแม้เงินออมจะเพิ่มสูงต่อเนื่อง ดังนั้น ควรสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ