(เพิ่มเติม) กนง.พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายดูแลเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างเหมาะสมแนะทุกภาคส่วนแร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 7, 2020 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงในการสัมมนา"Analyst Meeting"วันนี้ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้จะแข็งค่าชะลอลงและเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงให้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปี 63 ทั้งนี้ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย กนง.จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เช่น ด้านแรงงาน การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลง ธุรกิจนำระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้แทนแรงงานมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานเริ่มเปลี่ยนเป็นการรับเหมาบริการและ sub-contract มากขึ้น ซึ่งมีความมั่นคงและสวัสดิการน้อยกว่าการจ้างงานประจำ นอกจากนี้ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุและมีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

อีกทั้งด้านการลงทุน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างว่า ประเทศไทยมีการออมสูงและการลงทุนต่ำโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศแม้เงินออมจะเพิ่มสูงต่อเนื่อง ดังนั้น ควรสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในปี 62 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ต่ำกว่าระดับศักยภาพ และต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ 2.8% เนื่องจากการส่งออกหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 62 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย เป็นผลจากราคาพลังงานต่ำกว่าคาด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวในระดับต่ำ และอุปทานพลังงานเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าทั้งปี 62 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 0.7% สำหรับการส่งออกในปี 62 คาดว่าจะหดตัว -3.3% มากกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากผลของมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกของไทย ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งมาจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และผลของภัยแล้ง ส่วนมติ กนง.ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62 ซึ่ง กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% นั้น เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดและต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-4% แต่อย่างไรก็ดี การปรับอัตราดอกเบี้ยของกนง.ยังใช้หลัก Data Dependent โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น "เรื่องการลดดอกเบี้ย เรายังไม่ปิดประตู ยังทำได้ถ้ามีความจำเป็นของสถานการณ์ในอนาคต" นายดอนระบุ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็น 0.8% การส่งออกกลับมาขยายตัวที่ 0.5% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของปริมาณการค้าโลก และวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่มองว่าในระยะต่อไป การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามปัจจัยรายได้ ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนที่ปรับลดลง และหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่นับเป็นความเสี่ยงต่อรายได้เกษตรกรในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ