น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ประเมินอัตราการขยายตัวของ SMEs (GDP SME) ในปี 63 จะเติบโตไดิ 3-3.5% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงกว่าประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่มองว่าปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 2.7-3.2%
โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ทดแทนนักท่องเที่ยวจากจีน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งภาคการการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ ถือว่าเป็นหัวหอกหลักในการที่ทำให้ SMEs ในปีนี้มีการเติบโตขึ้น ประกอบกับยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากภาครัฐ รวมไปถึงการส่งเสริมด้านการทำธุรกิจผ่านระบบดิจิทัล ทำให้มีการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ e-Commerce
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยหนุนใหม่จากภาครัฐเข้ามาเสริม โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้อนุมัติมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย เพื่อช่วยให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน จากการสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือให้ธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และมีแหล่งเงินทุนที่ดอกเบี้ยไม่สูง เพื่อช่วยให้เหลือด้านสภาพคล่องและภาระต้นทุนของธุรกิจ SMEs ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจไปต่อได้ รวมไปถึงการเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ SMEs จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกัน 6 หมื่นล้านบาท
"ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อน SMEs ได้อย่างดี เพราะในต่างประเทศ การค้ำประกันสินเชื่อ SMEs เป็นสิ่งที่รัฐบาลในต่างประเทศมีการส่งเสริมและใช้กันมาก เพื่อทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจ SMEs เกิดปัญหาขึ้น คือ การขาดเงินทุนหมุนเวียน" น.ส.วิมลกานต์ระบุ
ส่วนสถานการณ์การตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มองว่าอาจจะทำให้ SMEs ไทยเสียโอกาสในการขยายตลาดไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางในปี 63 ซึ่ง สสว.เตรียมความพร้อมที่จะพาธุรกิจ SMEs รุกไปขยายตลาดในตะวันออกกลางปีนี้มากขึ้น หลังจากปีที่แล้ว ได้ศึกษาและเริ่มพาผู้ประกอบการ SMEs บางรายไปเริ่มทำตลาดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในประเทศบาเรนห์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ปีก่อนและจะรุกอย่างจริงจังในปีนี้นั้น ทำให้แผนการพา SMEs ไปรุกตลาดตะวันออกกลางต้องชะลอออกไปก่อน
อย่างไรก็ดี ถือว่าการส่งออกของ SMEs ไปตะวันออกกลางมีสัดส่วนที่ไม่สูงมากเพียง 0.1% ของมูลค่าการส่งออกของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 68.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากปีนี้ขยายไปตลาดตะวันออกกลางได้มากขึ้น จะทำให้มีสัดส่วนการส่งออกไปตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นสูงเป็น 2.44% ของมูลค่าการส่งออกของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด หรืออยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ แต่ทั้งนี้ ยังต้องรอติดตามความคืบหน้าของสถาณการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร แล้วจะนำมาพิจารณาการกลับไปรุกตลาดตะวันออกกลางอีกครั้ง
"ตลาดตะวันออกกลาง แม้ว่าจะยังมีสัดส่วนการส่งออกของ SMEs ไม่มาก แต่ปีที่แล้วที่เราเริ่มไปทำการศึกษาและลองพาธุรกิจ SMEs ไปเปิดตลาด ถือว่าได้รับการตอบรับดี ทำให้ปีที่แล้วเราเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะเข้าไปรุกตลาดตะวันออกกลางมากขึ้นในปีนี้ แต่พอเกิดการโจมตีขึ้น ทำให้ตอนนี้เราก็พับแผนการไปรุกตลาดตะวันออกกลางก่อน ก็มองว่าทำให้เราเสียโอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆไปในตอนนี้" น.ส.วิมลกานต์ กล่าว
ส่วนเงินบาทที่ยังคงแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง พบว่ากระทบต่อการส่งออกสินค้าของธุรกิจ SMEs ไปยังตลาดประเทศอาเซียน ซึ่งการที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนได้รับผลกระทบมากที่สุด และทำให้สินค้าในบางประเภทสามารถหาซื้อสินค้าทดแทนในประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่าสินค้าที่ส่งออกจากไทยได้ ส่งผลไปถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังอาเซียนในปี 62 ที่ติดลบ 7% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 5.33 แสนล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกอันดับ 1 ของ SMEs ไทย
ขณะที่ปัจจัยสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในปีก่อน ไม่ได้มีผลกระทบมากต่อการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯและจีน ซึ่งการส่งออกสินค้าของ SMEs ไปทั้ง 2 ประเทศปรับเพิ่มขึ้น โดยที่การส่งออกไปจีนปรับเพิ่มขึ้น 11.9% มีมูลค่า 2.55 แสนล้านล้านบาท เป็นประเทศอันดับ 2 ที่มีการส่งออกมากที่สุด และการส่งออกไปสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้น 10.7% มีมูลค่า 1.58 แสนล้านล้านบาท โดยที่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งได้จากการสั่งสินค้าทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบต่างๆ มารองรับและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจ รวมถึงการนำเข้าเพื่อสต็อกสินค้า แต่การนำเข้าของผู้ประกอบการ SMEs ติดลบ 5.4% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่มั่นใจและกังวลกับสถานการณ์ต่างๆที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs โดยเฉพาะ Micro SMEs สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้ จะมีแนวทางการส่งเสริมในปี 63 ซึ่งทางภาครัฐสนับสนุนงบประมาณการส่งเสริม SME วงเงินรวมกว่า 2.68 พันล้านบาท โดยให้ สสว. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ดำเนินงานผ่านแผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล พร้อมมีหน่วยงานพันธมิตรเข้าร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริม SME รวม 23 หน่วยงาน จาก 9 กระทรวง 1 รัฐวิสาหกิจ ดำเนินโครงการร่วมกันไม่น้อยกว่า 17 โครงการ มีงบประมาณรวม 1.73 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการที่การดำเนินงานโดย สสว. โดยตรงวงเงิน 948 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายใต้แผนส่งเสริม SMEs ในปี 63 จะมุ่งเน้น 5 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1. สร้างผู้ประกอบการใหม่ให้ดำเนินธุรกิจแบบ Smart MSME 2. ขับเคลื่อน MSME สู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล 3. พัฒนา Micro SME ให้ได้รับมาตรฐานสินค้า เข้าสู่ตลาดและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ 4. สร้างการตระหนักรู้ เรื่องการใช้ Data ให้เป็นประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจ (Data-Driven Entrepreneur) และ 5. ส่งเสริม MSME ที่ผลิตสินค้าให้ต่อยอดธุรกิจการค้าบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับรายได้ (Servitization) รวมไปถึงการช่วยหลือให้ SMEs สามารถเข้าถึงมาตรฐานสินค้าและบริการได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นหนทางจะช่วยให้สินค้าของผู้ประกอบการ เข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น
โดย สสว. มีแนวทางจะประสานความร่วมมือกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ สสว. และกระทรวงการคลัง ในการขยายบทบาทการให้บริการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเพิ่มเติมจากสินค้าเกษตรและอาหารไปสู่สินค้าอื่นๆในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU) เป็นต้น
น.ส.วิมลกานต์ กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินงานส่งเสริม SMEs ในปี 63 ของสสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับความสามารถในการทำธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 380,000 ราย ทั่วประเทศ ส่วนภาพรวมสถานการณ์ SMEs ปี 62 จากจำนวนตัวเลขผู้ประกอบการ SMEs รวม 3,084,290 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 13,950,241 คน คิดเป็น 85.5% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ โดยจากการวิเคราะห์มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ในปีก่อนจากข้อมูลในรอบ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 62) เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 61 พบว่า การส่งออกของ SMEs มีมูลค่า 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 2.1% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยประเทศคู่ค้าหลักของ SMEs ไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอียู โดย GDP SMEs ปี 62 มีมูลค่า 7.41 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 61 3.5-4%
ในด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการปี 62 ในรอบ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 62) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 61 พบว่า SMEs มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ รวม 63,359 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.43% กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการยกเลิกกิจการ มีจำนวน 14,273 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.56% กิจการที่ยกเลิกสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ และอสังหาริมทรัพย์
"จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. แม้ว่าในปี 63 ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าหากยังมีความยืดเยื้อ การแข็งค่าของเงินบาท สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การขอสินเชื่อของ SMEs จากสถาบันการเงินยังคงทำได้ยาก รวมถึงกระแสของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง หรือแย่งส่วนแบ่งของธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิม แต่มีสัญญาณที่เป็นแนวโน้มที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการที่ภาครัฐระดมสรรพกำลังเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวก้าวทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านแนวทางสำคัญที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้ SME ไทย เติบโตและอยู่รอดได้" น.ส.วิมลกานต์ กล่าว