นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นแล้ว ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายฉุกเฉิน และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากภัยแล้งปีก่อน ที่ขณะนี้ยังมีวงเงินเหลือจากปีก่อนอีกประมาณ 40,000 ล้านบาทจากกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการช่วยเหลือในรอบปีบัญชี 2562-2564 ไว้เดิม 55,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงมั่นใจว่า วงเงินดังกล่าวจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้สั่งการให้ ธ.ก.ส.ในพื้นที่ ลงสำรวจความเสียหายของเกษตรกรทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะสรุปตัวเลขความเสียหายในภาพรวมได้ภายในเดือน ม.ค.นี้ และจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ภายในเดือน ก.พ. หรือแล้วแต่รอบการผลิตของเกษตรกร
"ธ.ก.ส.พื้นที่ จะสำรวจผู้ที่เสียหายใหม่ว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่คาดการณ์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ประสบภัยเดิม และได้รับความช่วยเหลือในรอบปีบัญชีก่อนแล้ว แต่หากสำรวจพบผู้เสียหายรายใหม่ ธ.ก.ส.ก็จะขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือเพิ่ม เพื่อให้ครบรอบเวลาในการให้ความช่วยเหลือ 3 รอบปีบัญชี"นายสมเกียรติ กล่าว
ในปัจจุบัน ลูกค้าเกษตรกรของ ธ.ก.ส.ที่อยู่ในภาคเหนือตอนล่างมีกว่า 3 แสนราย และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 ล้านราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันเกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจำนวนมาก และเป็นภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบให้เกษตรกรผิดนัดชำระหนี้ให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งอัตราการชำระหนี้ของเกษตรกรยังสูงถึง 90% ของจำนวนเกษตรกรที่มีหนี้กับธ.ก.ส.ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรรายย่อยยังคงมีวินัยในการชำระหนี้ ประกอบกับที่ผ่านมา ธ.ก.ส.มีการพักชำระหนี้เงินต้นให้จากผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ทำให้สัดส่วนการชำระหนี้โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะนี้ที่หนี้เสียอยู่ที่ 4.55% ใกล้เคียงกับรอบปีบัญชีก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราปกติ ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด