นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้เน้นย้ำการส่งเสริมภาคธุรกิจ SME ใน 4 กลุ่มหลักให้เห็นผลภายในปี 63 ประกอบด้วย
1.อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและแรงงาน ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง โดยเน้นให้มีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและบริการในทุกประเภท
2.อุตสาหกรรมด้านครีเอทีฟอิโคโนมี เน้นให้การส่งเสริมด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทั้งด้านการสร้างภาพยนตร์ แอนิเมชั่น รวมถึงการพัฒนาด้านดีไซน์และศิลปะ โดยมอบหมายให้บีโอไอไปออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในด้านนี้ขึ้นมา
3.อุตสาหกรรมด้านไบโออิโคโนมี มอบหมายให้บีโอไอออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคธุรกิจที่ลงทุนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอุตสาหกรรมหลัก
และ 4.อุตสาหกรรมที่เน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเรื่องนี้บีโอไอจะทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยหากภาคธุรกิจใดเข้าไปมีส่วนร่วม หรือมีการลงทุนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาชุมชน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ
"ถ้าดูจาก 4 กลุ่มที่บอก มันเป็นการเปิดมิติใหม่ที่เตรียมให้ประเทศไทยมีภาคเศรษฐกิจที่จะรองรับการจ้างงานในอนาคต ซึ่งทั้งหมดต้องการให้เกิดในปีนี้"นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ นายสมคิด ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของบีโอไอที่สามารถทำผลงานได้ตามเป้าการส่งเสริมการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 7.56 แสนล้านบาทในปี 62 ซึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ 5 แสนล้านบาท โดยจีนมาเป็นอันดับ 1 ที่ยื่นคำขอการลงทุนสูงสุด 2.6 แสนล้านบาท
และในปีนี้บีโอไอมีแผนจะเดินสายเปิดตลาดในสหรัฐอเมริกาในเดือน มี.ค.นี้ หลังจากได้รับการตอบรับจากทั้งจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกงที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยในปี 62 มีเงินลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายเกือบ 3 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายสมคิด กล่าวว่า ในขณะนี้ทางบีโอไอยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายการลงทุนในปี 2563 แต่ก็ฝากให้บีโอไอทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่า นักลงทุนยังสนใจเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมกันนั้นได้กำชับให้สำนักงบประมาณเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างในทุกกระทรวง เพราะกว่าเม็ดเงินงบประมาณจะออกมาก็หลังเดือน ก.พ.ไปแล้ว และกว่าจะได้ใช้งบประมาณได้ก็ช่วงครึ่งปีหลัง
ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวถึงยอดคำขอส่งเสริมการลงทุนในปี 62 พบว่า จีนมาเป็นอันดับ 1 แซงหน้าประเทศญี่ปุ่น โดยจีนมีคำขอลงทุน 2.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง 1.6 แสนล้านบาท และโครงการทั่วๆไป 1 แสนล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 61 ที่มีคำขอลงทุนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท
ส่วนญี่ปุ่น มีคำขอลงทุนปี 62 อยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปี 61 ที่มีคำขอลงทุน 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า การลงทุนจากญี่ปุ่นไม่ได้ลดลง แต่มีอัตราการเพิ่มการลงทุนช้ากว่าจีน