นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% จากก่อนหน้านี้ที่เคยมองกรอบไว้ที่ 2.7-3.1% ส่วนการส่งออกขยายตัว 0.8% คิดเป็นมูลค่า 248,613 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าลดลงเล็กน้อยที่ -0.1% คิดเป็นมูลค่า 237,693 ล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ที่ 4.7% ต่อ GDP อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ระดับ 1.0%
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.50-31.00 บาท/ดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากปีก่อน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 41.4-41.8 ล้านคน ขณะที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะขยายตัวได้ 2.5% ปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 3.0% โดยที่ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ในช่วง 60-80 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ ปัจจัยที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ 1.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มมีสัญญาณผ่อนคลายลง 2.เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น 3.ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 4.การลงทุนภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน 5.การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และ 6.ธนาคารกลางทั่วโลก ต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย
ส่วนปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน 2.เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆ 3.ความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งในปี 63 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก 4.การพิจารณางบประมาณรายจ่ายมีความล่าช้ามาก 5.หนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงิน และการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และ 6.ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 62 ที่ผ่านมา ประเมินว่า GDP ขยายตัวได้ 2.5% การส่งออกลดลง -2.5% การนำเข้าลดลง -4.2% ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 6.6% ต่อ GDP การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2.1% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.8% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 0.7% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 29.75-31.25 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล