การเปิดโต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าที่จะนำไปสู่การลงนามเฟส 1 นำโดยผู้บริหารประเทศระดับสูงของสองชาติมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯและจีนในวันที่ 15 ม.ค.63 นับเป็นข่าวดีที่จะช่วยลดระดับความตึงเครียดปัญหาสงครามการค้าที่ลากยาวมาเกือบ 2 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก
นักวิชาการแสดงมุมมองถึงโอกาสและความเป็นไปได้ว่าทั้งสองประเทศจะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าในเฟส 1 น่าจะมีความชัดเจนในทิศทางเชิงบวก ช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งทางการค้าลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมองประเด็นตั้งกำแพงภาษียืดเยื้อ คาดเจรจากรอบการค้ารอบสองและสามยุติยาก จึงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจโลกต่อไป
*"สหรัฐฯ-จีน" โชว์บาดแผลจากสงครามการค้า
รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าการเจรจาลงนามข้อตกลงการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯในครั้งนี้จะสามารถคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง เนื่องจากทั้งสองประเทศต้องการหลีกเลี่ยง "Negative Sum Game" คือไม่ต้องการได้รับผลกระทบเชิงลบรุนแรงทางเศรษฐกิจ เมื่อปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯอยู่ในภาวะกำลังย่ำแย่ อย่างกรณีของจีนเศรษฐกิจไตรมาส 3/62 เติบโตเหลือแค่ 6% ต่ำที่สุดรอบหลายสิบปี ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในปี 63 เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตในอัตราชะลอลงเหลือแค่ 5% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ทางฝั่งประเทศสหรัฐฯอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงตามลำดับ สะท้อนจากเศรษฐกิจไตรมาส1/62 เติบโต 3.2% ,ไตรมาส2/62 เติบโต 2.3% ก่อนเข้าสู่ไตรมาส3/62 เหลือเติบโต 1.9% เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากำแพงภาษีที่เกิดขึ้น แม้จะสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศจีน แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
*เจรจาเฟสแรกแค่พักรบ แต่เชื่อยังไม่ใช่สัญญาณ "สงบศึก"
"ถ้าเปรียบเป็นรถยนต์ แม้สหรัฐฯจะเป็นรถยนต์คันใหญ่กว่าจีน แต่เมื่อชนกันแล้วก็ต้องได้รับความเสียหายกันทั้งคู่ และถ้ายังชนกันต่อไปก็อาจจะพังได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงมองว่าทางออกที่ดีคือทั้งสองฝ่ายต้องหาทางยุติความขัดแย้ง เป็นที่มาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.62 ที่มีการเจรจากันในหลักการเพื่อหาข้อยุติในเฟสแรก ซึ่งจะลงนามในวันที่ 15 ม.ค.63 เพื่อลดความขัดแย้งทางการค้าในระดับหนึ่ง"รศ.สมชาย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
รศ.สมชาย กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์รายละเอียดข้อตกลงบางส่วนที่มีความเป็นไปได้ตามกรอบเงื่อนไขเจรจาการค้าในเฟส 1 ตามข้อเรียกร้องสหรัฐฯที่มีต่อจีน (เงื่อนไขรายละเอียดยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ) ข้อแรกคือต้องการให้จีนเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯรวมมูลค่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯภายในปี 63 ,ข้อที่สองจีนต้องดำเนินการแก้ไขการนำเข้าสินค้าและบริการเพื่อไม่ให้สหรัฐฯเสียเปรียบการค้าในวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯภายในระยะเวลา 2 ปี ,ข้อที่สามจีนต้องไม่ใช้เครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนนำมาเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันการค้า จากเดิมจงใจลดค่าเงินหยวนเพื่อช่วยเหลือส่งออกของจีน ,ข้อที่สี่คือให้จีนเปิดเสรีภาคการเงินการธนาคารและการเงิน
และข้อที่ห้าคือในกรณีถ้าเกิดจีนไม่ปฎิบัติตามข้อตกลงตามเงื่อนไขที่ได้ลงนามในเฟส 1 จะนำมาสู่การเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติใหม่อีก 3 ครั้ง และมีเงื่อนไขด้วยว่าถ้ากรณีจีนไม่ปฎิบัติตามสหรัฐฯจะใช้มาตรการตอบโต้ให้สมกับสถานะภาพหรือตั้งกำแพงภาษีให้สอดคล้องกับสิ่งที่จีนได้ปฎิบัติกับสหรัฐฯ
สำหรับข้อเสนอสหรัฐฯยอมแลกให้กับจีน ประกอบด้วย การไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะบังคับใช้วันที่ 15 ธ.ค.62 ในวงเงินสุดท้ายประมาณ 2.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ,ข้อเสนอที่สองคือภาษีนำเข้าสินค้าที่ทางฝั่งสหรัฐฯได้ปรับขึ้นไปแล้ววงเงิน 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯในอัตรา 15% บังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ย.62 สหรัฐฯจะลดลงครึ่งหนึ่งหรือเหลือในอัตรา 7.5% และข้อเสนอที่เหลืออาจจะมีผ่อนคลายเกณฑ์ต่างๆบ้างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สหรัฐฯยังไม่ยอมให้กับจีนคือยังคงภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 25% วงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้สหรัฐฯไม่ได้พูดถึงว่าจะนำเข้าสู่กรอบการเจรจาในเฟส 1
"ท้ายที่สุดแล้วคงต้องมาติดตามกันต่อว่าในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ความขัดแย้งการค้าจะบรรลุข้อตกลงตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯเรียกร้องหรือไม่ แต่สิ่งที่อยากให้คำนึงถึงคือข้อตกลงต่างๆยังไม่จบสิ้น เพราะกำแพงภาษีก็ยังค้างคาอยู่เช่นเดิม เพราะสหรัฐฯยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากับจีน 7.5% แม้จะลดลงมาจาก 15% ขณะที่ภาษีนำเข้า 25% วงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯก็ยังอยู่เช่นเดิม กรณีที่สหรัฐฯเล่นงานหัวเหว่ยก็ยังไม่จบสิ้น
ถ้าวิเคราะห์ไปถึงโครงสร้างประเทศจีนเป็นการปกครองคอมมิวนิสต์การอุดหนุนการค้าด้านต่างๆเชื่อว่ายังคงอยู่เหมือนเดิม ส่วนกรณีที่จะให้จีนเปิดเสรีแบบเต็มที่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาการถ่ายโอนเทคโนโลยี คงเป็นเรื่องยากที่จีนจะยอมให้กับสหรัฐฯเพราะเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ ทำให้มีแนวโน้มว่าข้อตกลงเจรจาการค้าในกรอบสองหรือกรอบสามในระยะถัดไป โอกาสเห็นข้อยุติคงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ส่วนตัวมีมุมมองเป็นบวกยังเชื่อว่าในปี 2563 ข้อตกลงการค้ากรอบแรกน่าจะคลี่คลาย ทำให้ความตึงเครียดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา"รศ.สมชาย กล่าว
*กำแพงภาษี ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลก
รศ.สมชาย กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ว่าผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจโลกมาถึงจุดเลวร้ายที่สุดหรือไม่ แม้ว่าการเจรจาในเฟส 1 จะช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งไปได้บ้าง แต่สหรัฐฯไม่ได้ประกาศว่าจะยกเลิกกำแพงภาษี โดยอ้างว่าต้องพิจารณาการปฎิบัติของจีนก่อนว่าแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง ดังนั้นในช่วงที่กำแพงภาษียังคงบังคับใช้อยู่เช่นเดิม ความขัดแย้งก็จะยังไม่สิ้นสุดลงอย่างแท้จริง นอกจากนั้น สหรัฐฯไม่ได้เปิดสงครามการค้ากับจีนแค่ประเทศเดียว แต่ตั้งกำแพงภาษีกับอีกหลายประเทศทั่วโลก เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าความขัดแย้งทางการค้ายังเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นเดิม เพียงแต่ว่าสถานการณ์ลดระดับความขัดแย้งลงมาระดับหนึ่งเท่านั้นเอง
ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ นอกจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯแล้ว จีนยังมีปัญหาหนี้สาธารณะและไม่สาธารณะอยู่ในอัตราสูง ล่าสุดขึ้นมาอยู่ระดับกว่า 300% ต่อจีดีพีโดยรวมประเทศจีน มองว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่แก้ไขได้ยากเช่นกัน นอกจากนั้น จีนอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมพึ่งพาภาคการผลิตเพราะมีจุดเด่นเรื่องค่าแรงถูก แต่ปัจจุบันเริ่มไม่ถูกแล้ว จึงต้องหันมาผลิตสินค้าเทคโนโลยีไอทีที่มุ่งเน้นคุณภาพเพื่อมาทดแทน ซึ่งหลังจากได้รับผลกระทบกำแพงภาษีจากสหรัฐฯการพัฒนาและยกระดับสินค้าไอทีเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นได้ในระยะถัดไปจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
"จีนกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อที่กำลังปรับตัว แต่เชื่อว่าด้วยศักยภาพของประเทศขนาดใหญ่น่าจะสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง แต่คงต้องใช้ระยะเวลาอีกซักพัก ซึ่งเศรษฐกิจจีนติดในหลุมมาตั้งแต่ปี 55 จีดีพีลดลงมาเรื่อยๆพอมาในปี 62 จีดีพีทำจุดต่ำสุดในรอบหลายปี และปี 63 ก็ยังมีโอกาสเติบโตในอัตราลดลงมาเหลือกว่า 5% เป็นประเด็นต้องติดตามว่าจีนจะพิสูจน์และใช้เวลาฝ่าฟันพัฒนาให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง"รศ.สมชาย กล่าว
https://youtu.be/k0HxTWs7Kpw