นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index : TCC-CI) ประจำเดือน ธ.ค.62 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 45.7 ลดลงจากเดือน พ.ย.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 45.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 นับตั้งแต่ มี.ค.62
ปัจจัยลบที่มีกระทบผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาดโต 3.3%, การส่งออกไทยในเดือน พ.ย.62 ลดลง -7.39%, ความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ปัญหา BREXIT รวมทั้งกรณีที่สหรัฐตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกไทย, ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และความกังวลต่อสถานการณ์การบริโภคที่ชะลอตัวลง แม้จะเป็นช่วงสิ้นปีที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้แก่ กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี, ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/62 เติบโตต่อเนื่อง, มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ และขยายกิจการสูงถึง 4.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 37.94%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องจากระดับ 30.244 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ย.62 มาอยู่ที่ระดับ 30.223 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62 สะท้อนให้เห็นว่ายังมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา
พร้อมกันนี้ ภาคเอกชนได้เสนอแนะแนวทางต่อภาครัฐในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ดังนี้
1.สร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสถานการณ์ทางการเมือง หรือวางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน
2.กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการบริโภค และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยให้สามารถขยายตัวได้อย่างชัดเจน
3.สร้างความสมดุลของราคาพืชผลเกษตรให้ได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการ
4.มีมาตรการป้องกันและการแก้ปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ
5.เพิ่มมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และลดค่าครองชีพประชาชนในระยะยาว
6.เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศให้ดีขึ้น
7.แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ โดยสามารถกระจายความเจริญได้ไปทั่วทุกภูมิภาค
*ดัชนีรายภาค
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 46.7 ลดลงจาก 46.9 ในเดือนพ.ย. โดยปัจจัยลบสำคัญ คือ การค้าซบเซาจากสถานการณ์การชะลอการบริโภคของประชาชน, ความกังวลของนักลงทุนและประชาชนที่มองว่าเศรษฐกิจไม่ดี, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่คาดการณ์ และเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี, มาตรการประกันรายได้เกษตรกร และจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศช่วงวันหยุดยาวมากขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไข คือ สร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ, พัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน เสริมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคกลาง เดือนธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 45.4 ลดลงจาก 45.6 ในเดือนพ.ย. โดยปัจจัยลบสำคัญ คือ ความกังวลต่อปัญหาภัยแล้ง, ปัญหาเศรษฐกิจในชุมชนซบเซา ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง และเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออก ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเอกชน และมาตรการประกันรายได้เกษตรกร
อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่ต้องการให้เร่งแก้ไข คือ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระจายลงสู่พื้นที่อย่างทั่วถึง, พัฒนาทักษะและศักยภาพของแรงงานไทย และช่วยลดต้นทุนด้านการเกษตร
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในภาคตะวันออก เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 49.9 ลดลงจาก 50.1 ในเดือนพ.ย. โดยปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น, ปัญหาการกระจายรายได้ของประชาชนในพื้นที่, ระดับรายได้ที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อค่าครองชีพที่ไม่เพียงพอ, เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว, ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ, แนวนโยบายการส่งเสริมลงทุนในกลุ่ม EEC
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไข คือ สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศให้กับนักลงทุน และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐตามแผนที่วางไว้
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 44.6 ลดลงจาก 44.8 ในเดือนพ.ย.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ การบริโภคของประชาชนในพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัว, ความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง, ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น, ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น, เงินบาทแข็งค่า ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา และสับปะรดมีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ฤดูการผลิต, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่ง นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข คือ กระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ให้คึกคักมากขึ้น, แกัปัญหาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมากขึ้น และพัฒนาระบบประกันสุขภาพของประชาชน
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคเหนือ เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 45.8 ลดลงจาก 46.0 ในเดือนพ.ย.62 โดยปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ เกษตรในพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร, ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น, ราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ แม้จะมีการประกันรายได้ ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว จากที่ผลผลิตภาคเกษตรออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม, ภาคบริการขยายตัวจากธุรกิจท่องเที่ยว เพราะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของภาคเหนือ
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข คือ แผนจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค, การโฆษณาประชาสัมพันธ์สนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 43.0 ลดลงจาก 43.2 ในเดือนพ.ย.62 โดยปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ความต้องการซื้อมีน้อยกว่าปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด, จำนวนนักท่องเที่ยวยังตำกว่าที่คาดการณ์, เกษตรกรส่วนหนึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว, มีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเฉลิมฉลองในช่วงปีใหม่
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือ ช่วยเหลือเกษตรกรด้านต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และควบคุมราคาสินค้าที่สูงเกินจนกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน