ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เงินบาทที่แข็งในปี 62 ที่ผ่านมาเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก ไม่ใช่แรงเก็งกำไรต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่ามีความกังวลและติดตามสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกับ ธปท.ในการแก้ไขปัญหานี้
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในปี 62 ที่ผ่านมามีสาเหตุหลักสำคัญจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ใช่การเก็งกำไรระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลจะพบว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิในปี 62 เป็นการไหลออก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง
"ธปท.ยอมรับว่ามีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท โดยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะใช้มาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น" นายเมธี กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 62 ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี 63 จะพบว่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง 1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
นายเมธี กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าเป็นอาการที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ซึ่งการแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงการใช้นโยบายการคลังอื่นๆ ที่หวังผลระยะสั้นแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่มองว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ต้นเหตุของปัญหาเงินบาทแข็งค่าคือการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศยังมีน้อย
ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อเอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศ และสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทลง
แต่เมื่อเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ธปท. ภาครัฐ และภาคเอกชน ด้วยการเพิ่มการนำเข้าหรือลงทุนในเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต เพราะถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะนำเข้าในช่วงต้นทุนถูกลงจากเงินบาทแข็งค่า, ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) หรือการหักชำระรายจ่ายและแลกนำเข้าเฉพาะส่วนที่เหลือ, ออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
"ถ้าให้ ธปท.ทำคนเดียวก็อาจจะเป็นมาตรการที่รุนแรง แต่ถ้าร่วมมือกันทำก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ถ้าทุกคนช่วยกันก็ไม่ต้องออกมาตรการที่รุนแรง เปรียบเหมือนกับคนที่เป็นโรค วิธีการรักษามีหลายวิธี เช่น มะเร็ง ถ้ารักษาแบบเข้ม คือใช้คีโมก็จะรุนแรงไป ร่างกายผู้ป่วยอาจรับไม่ได้ แต่ถ้าใช้ธรรมชาติบำบัด ค่อยๆ รักษา อาจจะหายช้าหน่อย แต่ร่างกายจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องช่วยกันทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหา" รองผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท.ได้บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในหลายรูปแบบ เช่น ในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ธปท.จะเข้าไปซื้อดอลลาร์และขายบาท ซึ่งดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาอยู่ในรูปของเงินสำรองฯ ซึ่งเงินสำรองฯ ก็จะเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินสำรองฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันไทยมีเงินทุนสำรองสูงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก สะท้อนว่า ธปท.ได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วยการซื้อดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง
"ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หาก ธปท.ไม่มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น และเงินบาทอาจจะแข็งค่ามากกว่าระดับปัจจุบัน"นายเมธี ระบุ
สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) เพื่อช่วยผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาทนั้น นายเมธี มองว่า การตั้งกองทุนดังกล่าวไม่น่าจะมีผลช่วยให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลงได้ เนื่องจากทุนสำรองระหวางประเทศของ ธปท.ขณะนี้อยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว การตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมาเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงประเภทของการลงทุนที่อยู่ในต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้บาทอ่อนค่าลง
พร้อมมองว่า ขณะนี้การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักมีความเสี่ยงสูงด้วย ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์ของต่างประเทศค่อนข้างจะ over price จึงอาจเป็นการไปซื้อของแพงได้
"ถ้าอยากให้บาทอ่อน ภาครัฐและเอกชนต้องซื้อดอลลาร์ในตลาดแล้วไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ถ้ามาซื้อดอลลาร์จากแบงก์ชาติ บาทไม่อ่อน เพราะเท่ากับว่าเอาเงินของเราไปให้เขาเลย...เรามองว่าต้องดูที่วัตถุประสงค์ในการตั้งกองทุน SWF ว่าตั้งไปเพื่ออะไร ถ้าตั้งเพื่อจะให้ค่าเงินอ่อน คงไม่ได้ช่วย และถ้ามาซื้อดอลล์ที่แบงก์ชาติ ก็แค่การสวิชชิ่งดอลลาร์เท่านั้น"นายเมธี ระบุ