นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ปี 2563 มูลค่าการส่งออกของไทยจะอยู่ที่ราว 244,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในช่วง 240,472 - 247,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว - 0.9% (อยู่ในช่วง -2.4% ถึง 0.5%)
โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญรุมเร้า ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ปัจจัยเสี่ยงที่มีระดับความเสี่ยงสูงถึงสูงมากคือ 3 สงครามการค้า(สงครามด้านการค้า สงครามด้านเทคโนโลยี และสงครามค่าเงิน), ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า, วิกฤติสหรัฐฯและอิหร่าน และเศรษฐกิจโลกที่ยังทรงตัว
นายอัทธ์ กล่าวว่า แม้วันนี้จีนจะถูกปลดจากประเทศแบล็คลิสต์การบิดเบือนค่าเงิน จะทำให้ทิศทางของสงครามการค้าคลี่คลายขึ้นก็ตาม แต่สงครามเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องของการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกรณีที่จีนกล่าวหาสหรัฐขโมยเรื่อง 5G ขณะที่สหรัฐฯ ก็ออกกฎหมายห้ามประเทศจีนใช้ 5G
"แต่ถ้าในกรณีพิเศษ คือ สหรัฐและจีน ตกลงกันไม่ได้ Second Trade Deal ไม่เดินต่อ และมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น การส่งออกของไทย จะติดลบหนักกว่าเดิม (-1.7 ถึง -4.6%)" นายอัทธ์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 2563 มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุน โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 29-30 บาท/ดอลลาร์
"ปี 2562 ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 4.98% แข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีค่าเงินแข็งเหมือนไทย ขณะที่มีหลายประเทศในโลกที่ค่าเงินอ่อนค่า เช่น เกาหลีใต้ จีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ซึ่งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1% จะทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง 0.1%" นายอัทธ์ระบุ
นายอัทธ์ กล่าวว่า บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกจะลดลง 0.4% หรือคิดเป็นมูลค่า 979.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 29,381.4 ล้านบาท
แต่หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 29 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกจะลดลง 0.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,850.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 53,654.7 ล้านบาท
"ทางการควรดูแลให้สอดคล้องกับ ค่าเงินในภูมิภาคและอาเซียน" นายอัทธ์ กล่าว
สำหรับวิกฤติความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านนั้น หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น 29% หรือประมาณ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล จากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2562 อยู่ที่ 61.2 ดอลลาร์/บาร์เรล GDP โลกจะลดลง -1.1% การส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง จะลดลง -2.7 ถึง -3.5% หรือประมาณ 6,750 ถึง 8,500 ล้านบาท จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลง -1.8% หรือประมาณ 132,067 ล้านบาท
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงระดับความเสี่ยงปานกลาง คือ เศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่นชะลอตัว, ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปัญหาภัยแล้ง
สำหรับปัจจัยภัยแล้งที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่มีระดับความเสี่ยงปานกลาง โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ประมาณ 20-30% ตามประเภทของสินค้าเกษตรและความรุนแรงของภัยแล้งจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปี 63 ราคาสินค้าเกษตรของโลกมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะพืชพลังงาน เช่น น้ำมันมะพร้าว, ปาล์มน้ำมัน, ถั่วเหลือง
สุดท้ายคือปัจจัยเสี่ยงระดับความเสี่ยงต่ำ คือการตัดสิทธิ GSP ไทยของสหรัฐ, การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและความตกลงที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากยุโรป (USMCA)
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม 3 ประเด็นคือความก้าวหน้าของความตกลง RCEP, ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ BREXIT และการเก็บภาษีรถยนต์ 25% ของสหรัฐฯ
"ปีนี้ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ การส่งออกไทยจะอยู่ในช่วงลบ 0.9 ถึงลบ 2.4% บนสมมติฐานราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์/บาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วงระหว่าง 29-30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์จะอยู่ในช่วง 2.7-3.2% ซึ่งเพิ่มขึ้น แต่ต่ำกว่าที่สถาบันระหว่างประเทศคาดการณ์ไว้ที่ 3.4%" นายอัทธ์กล่าว
นายอัทธ์ กล่าวว่า ถ้าการส่งออกไทยปีนี้ติดลบ 0.9% มูลค่าส่งออกจะหายไปประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จะกระทบ GDP ไทยประมาณ 0.5%
สำหรับข้อเสนอแนะที่ไทยต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น คือ 1.ประเทศไทยจะต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ในตลาด ที่มีอยู่แล้วและตลาดใหม่ๆอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่า 5% ให้เข้มข้นกว่าปัจจุบัน
2. ประเทศไทย จะต้องบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพในภาคการผลิต โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2563 จำนวน 5-6 บาททำให้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 313-336 บาทต่อวัน อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตราคาสินค้าของผู้ส่งออกไทยและมูลค่าการส่งออกของไทยซึ่งค่าจ้างเปลี่ยนแปลงไป 1% คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกไทยลดลง 0.06% (การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 313 - 336 บาท/วัน เท่ากับมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 ถึง 1.8% จะทำให้การส่งออกลดลงประมาณ 0.10 ถึง 0.11% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 237-266 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,362-8,282 ล้านบาท)
3.ประเทศไทยจะต้องใช้แพลตฟอร์มของออนไลน์ ให้ทะลุทะลวงถึงประเทศต่างๆให้ได้ ซึ่งประเทศไทยจะต้องเน้น 2 เรื่องสำคัญคือ เรื่องของมาตรฐานสินค้า ที่เป็นทั้งมาตรฐานของไทยและมาตรฐานสากล และประเทศไทยต้องเน้นเรื่องสินค้าปลอดภัย
4. ประเทศไทยต้องทำสินค้าเป็น 2 Track คือสำหรับขายในประเทศที่กำลังพัฒนา 1 Track ขายกลุ่มที่มีกำลังซื้อต่ำ กับสินค้าที่เป็นระดับพรีเมี่ยมอีก 1 Track ขายกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ยุโรป อเมริกา จีน
5. ประเทศไทยจะต้องตั้งราคา สินค้าที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับคุณภาพ ที่เทียบคู่แข่งเป็นเกณฑ์ว่า ไม่ควรจะแพงกว่าประเทศคู่แข่งเกินไปโดยเฉพาะเวียดนาม หรือประเทศในอาเซียนด้วยกัน
6. ประเทศไทยจะต้องผลักดันกลุ่ม SME ที่มีศักยภาพ ผลิตสินค้าคุณภาพมาตรฐานไปยังตลาดต่างประเทศ โดยขณะนี้ 95%ของกลุ่ม SME ที่มีคุณภาพ มี มีหลายบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตแต่ขาดเงินทุนขาดองค์ความรู้ที่จะไปตลาดต่างประเทศ และประเทศไทยจะต้องไม่ละเลยในการเติมเต็มให้ SME เหล่านี้ใน เรื่ององค์ความรู้ในการทำตลาดต่างประเทศ ขาดความรู้ในการทำ packaging ขาดความรู้ในการดีไซน์
7. ประเทศไทยจะต้องมีใบรับประกันคุณภาพ ที่สามารถบอกได้ว่าสินค้านั้นๆมีคุณภาพมาตรฐานและผ่านการรับรองจาก ทางด้านวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์
"สำหรับปัจจัยการเมืองในประเทศที่มองว่าขณะนี้เริ่มกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว เริ่มมีกองเชียร์ของ 2 ฝ่าย ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่น แต่ถ้ามีการพัฒนาระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะกลับไปเหมือนเดิม และจะมีผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน" นายอัทธ์ระบุ