ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนธ.ค.62 อยู่ที่ระดับ 42.4 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 42.0 ในเดือนพ.ย.62 โดยครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยฤดูกาลอย่างการปรับขึ้นเงินเดือน และการให้เงินตอบแทนพิเศษ (Bonus) ประจำปีของหน่วยงานเอกชนต่างๆ ในช่วงเดือนธ.ค. ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง (ผลทางราคาที่เพิ่มขึ้นมากกว่าผลทางปริมาณที่ลดลง) อาทิ มันสำปะหลังสด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และสุกร ซึ่งช่วยหนุนให้ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามภาวะภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่อาจจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งอาจจะกระทบต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรในระยะถัดไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนธ.ค.62 มาจากปัจจัยฤดูกาลเป็นสำคัญ โดยหากเปรียบเทียบชุดข้อมูล KR-ECI ในปีก่อน จะเห็นว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ดัชนีฯ จะขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับดัชนีฯ ในเดือนธ.ค.61 ที่อยู่ที่ระดับ 46.0 จะเห็นว่าดัชนีฯ ในเดือนธ.ค.62 อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา
ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) อยู่ที่ระดับ 42.2 ในการสำรวจช่วงเดือนธ.ค.62 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 42.1 โดยครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ รวมถึงภาระหนี้สินของตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) ของตนเอง
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนม.ค.-มี.ค.63) อยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน (เดือนธ.ค.62) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนมองภาวะการครองชีพที่ปรับตัวดีขึ้นในปัจจุบันมาจากปัจจัยชั่วคราว และยังคงกังวลกับภาวะเศรษฐกิจของตนเองในระยะข้างหน้า
"ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน (KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากความกังวลที่ลดลงในเรื่องรายได้และการมีงานทำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยฤดูกาล ในขณะที่ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยครัวเรือนยังมีความกังวลทางด้านรายได้และการมีงานทำ อย่างไรก็ดี ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำกว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกในช่วงเดือนก.ย.60) ชี้ว่า ครัวเรือนยังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจของตนเองในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ยังคงเปราะบางและเต็มไปด้วยหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ภาครัฐพยายามออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งก็น่าจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพได้บางส่วน