"ศักดิ์สยาม"นั่งหัวโต๊ะจัดทำแผนฟื้นฟูขสมก.ใหม่ ปรับเส้นทางเดินรถเชื่อมรถไฟฟ้า พร้อมนำเสนอครม. ก.พ.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 15, 2020 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า แผนฟื้นฟูใหม่ มีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ลดการวิ่งทับซ้อน ต่อเชื่อมระบบขนส่งอื่น เป็นรถปรับอากาศใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดค่าโดยสารที่ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน โดยจะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปสรุปรวมกับแผนฯเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งขสมก.จะต้องทำแผนนำไปสู่การปฏิบัติ (Action Plan) เพื่อให้เกิดผลรูปธรรม 100% และกรอบเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนด้วย

โดยแผนปรับปรุงใหม่ มีการปรับเรื่องการจัดหารถจากการซื้อและเช่า เป็นการเช่าบริการตามระยะทาง ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังยึดตามแผนฟื้นฟูเดิม คือ บุคลากร โครงสร้างองค์กร การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งโดยรวมแผนฟื้นฟูใหม่จะประหยัดงบจากภาครัฐได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ได้เน้นย้ำการทำงานให้มีธรรมาภิบาล ซึ่งในการกำหนด TOR จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายรับรู้และเปิดการแข่งขันเสรี เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด

ส่วนผู้ประกอบการเอกชน จะต้องปรับปรุงการให้บริการตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์จึงจะได้รับใบอนุญาตจาก กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เช่น รถใหม่ มีระบบ GPS เป็นต้น ส่วนค่าโดยสาร จัดเก็บตามกรอบที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง อนุมัติ คือ 15,20,25 บาท ซึ่งอาจจะเป็นคนละโครงสร้างกับ ขสมก.ที่เป็นรูปแบบตั๋วรายวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ในราคา 30 บาทต่อวัน ดังนั้นหากเอกชนเข้ามาร่วมเดินรถกับ ขสมก.ภายใต้มาตรฐานบริการและค่าโดยสารเดียวกัน จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาคสมัครใจ ไม่บังคับ เพราะถือว่าบริการของเอกชนเป็นทางเลือกของประชาชน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เอกชนจะให้ความร่วมมือ เพราะกลไกการตลาด ประชาชนจะเป็นผู้เลือกใช้บริการ

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า จะเร่งสรุปความเห็นและการปรับปรุงแผนฟื้นฟู เสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการ(บอร์ด) ขสมก.ได้ในเดือนก.พ. นี้ จากนั้นจะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอครม.ต่อไป ซึ่งแผนฟื้นฟูปรับปรุงใหม่ มีกรอบการดำเนินงาน จำนวน 7 ข้อ ดังนี้

1. การเช่ารถโดยสารปรับอากาศ ที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาวิ่งให้บริการประชาชน ทดแทนรถโดยสารเดิมที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม เนื่องจากมีอายุการใช้งานหลายปี ในเส้นทางที่ ขสมก.ได้รับอนุมัติจากกรมการขนส่งทางบก โดยจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่วิ่งให้บริการจริง (บาท/กิโลเมตร) เพื่อลดต้นทุนในการจัดหาและซ่อมบำรุงรถโดยสาร ในปัจจุบัน ที่มีต้นทุนถึง 50.25 บาท/กม. อีกทั้ง เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการเดินรถ ให้เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมทั้ง จัดเก็บค่าโดยสารในรูปแบบตั๋วรายวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ในราคา 30 บาทต่อวัน ตั๋วรายเดือน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) และตั๋วรายเที่ยว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน

2. การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ไม่ให้มีความทับซ้อน และจัดเดินรถในลักษณะ Feeder Liner (ป้อนผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบราง) และ Circle (วิ่งเป็นวงกลม) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้อย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถหมุนเวียนรถมาให้บริการได้มากขึ้น ผู้ใช้บริการใช้เวลารอคอยรถ ไม่เกิน 5 - 10 นาที

3. การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ในการบริหารจัดการเดินรถ ได้แก่ ระบบ GPS และ E-ticket

4. การปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดที่เหมาะสม

5. การให้พนักงานเก็บค่าโดยสาร เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ด้วยความสมัครใจ โดยมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานอย่างเหมาะสม ส่วนพนักงานขับรถโดยสารยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

6. การพัฒนาอู่บางเขน และอู่มีนบุรี เป็นพื้นที่เชิงธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้

7. การให้ภาครัฐรับภาระหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินการตามนโยบาย นายสุระชัย กล่าวว่า แผนฟื้นฟูเดิม จะมีค่าใช้จ่ายจัดหารถใหม่ 14,111.959 ล้านบาท ค่าเช่ารถ 7,098.384 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย Early Retirement 6,004 ล้านบาท แผนปรับปรุง มีค่าใช้จ่าย Early Retirement 6,004 ล้านบาท ค่าอุดหนุบริการเชิงสังคม(PSO) ปีละ 10,000 ล้านบาท (5 ปี ๆละ 2,000 ล้านบาท ) โดยจะไม่มีค่าใช้จ่ายจัดหารถ ซึ่งลงทุนลดลง 16,004 ล้านบาท ส่วนของคนขับรถ ที่ไม่เพียงพอ ปัจจุบันขสมก.มีพนักงานรวม 13,632 คน เป็นคนขับรถ 5,580 คน พนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,781 คน พนักงานทั่วไป 2,271 คน แผนปรับปรุง จะมีพนักงาน 8,259 คน เป็นคนขับ 6,300 คน และพนักงานทั่วไป 1,959 คน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก ได้ศึกษาปรับปรุงเส้นทางรถเมล์ เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทาง เกิดการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการทับซ้อน และจากปัจจุบัน 208 เส้นทาง (ขสมก. 107 เส้นทาง, รถร่วมเอกชน 101 เส้นทาง) เป็น 158 เส้นทาง (ขสมก. 104 เส้นทาง ,รถร่วมเอกชน 54 เส้นทาง) และอยู่ระหว่างเจรจา 45 เส้นทางซึ่งหากได้ข้อสรุปจะเปิดประมูล ซึ่งขสมก.และรถร่วมฯสามารถยื่นขอใบอนุญาต ภายใต้เงื่อนไขและมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ