ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ธปท.ปรับปรุงเกณฑ์คิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมสร้างมาตรฐานให้แบงก์พาณิชย์ แม้กระทบรายได้ปี 63 บ้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 15, 2020 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทย หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายละเอียดการปรับปรุงการคิดดอกเบี้ย และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อดูแลผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย 1.ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด ที่ธปท.กำหนดให้มีช่วงที่จะไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด และมีการคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือ แทนที่จะเป็นการคำนวณจากยอดวงเงินกู้ทั้งก้อน ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อเอสเอ็มอี (มีการเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้ไม่เกิน 3%) และสินเชื่อส่วนบุคคล 2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ที่จะต้องมีช่วงระยะเวลาที่จะไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (Grace Period) มีการคำนวณค่างวดค้างชำระส่วนที่เป็นเงินต้น (ไม่รวมดอกเบี้ย) เท่านั้น จากเดิมที่คำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือทั้งหมด) รวมถึงให้พิจารณาปรับลด/ยกเว้นค่าปรับให้ลูกหนี้เดิมตามสมควร ทั้งนี้ การปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในส่วนนี้ จะกระทบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอีในส่วนที่เป็น Term Loans และสินเชื่อส่วนบุคคล 3. การปรับปรุงค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม โดยหากมีการยกเลิกบัตร ลูกค้าจะได้รับค่าธรรมเนียมคืนตามสัดส่วนทันที รวมถึงการออกบัตรใหม่และรหัสทดแทนที่จะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม (ยกเว้นบัตรที่ต้นทุนสูงที่อาจเรียกเก็บได้ตามเหมาะสม)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับปรุงวิธีคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยข้างต้น จะสร้างแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานระหว่างธนาคารพาณิชย์ โดยเน้นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่เดิมทางการไทยจะเน้นการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและชัดเจนให้กับผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย

สำหรับผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมนั้น คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ไม่น่าจะเกิน 2% ของกำไรสุทธิ โดยท่ามกลางการปรับปรุงใน 3 เรื่องข้างต้น คาดว่าส่วนที่มีผลกระทบมากกว่าเรื่องอื่นๆ ได้แก่ การปรับวิธีคิดของดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เรื่องที่ 2) ที่จะกระทบรายได้ดอกเบี้ย ขณะที่การปรับปรุงในเรื่องค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด (เรื่องที่ 1) และการปรับปรุงค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม (เรื่องที่ 3) นั้น คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากยกตัวอย่างในกรณีของค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดนั้น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการผ่อนปรนให้กับลูกค้าด้วยการไม่เรียกเก็บค่าปรับ และ/หรือคำนวณจากยอดเงินกู้คงเหลืออยู่แล้ว ขณะที่ ในกรณีของการปรับปรุงค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็มนั้น ธนาคารพาณิชย์บางส่วนมีการดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมเมื่อลูกค้ามีการยกเลิกบัตรเดบิตและเอทีเอ็มไปก่อนหน้านี้แล้ว

นอกเหนือจากประเด็นการปรับปรุงวิธีคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายผลประโยชน์จะตกอยู่กับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าเอสเอ็มอีแล้ว ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ ธปท.คงจะทยอยปรับใช้ในอนาคต อาทิ การพิจารณาปรับปรุงค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติม และการปล่อยกู้โดยที่คำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาค่อนข้างมาก และต้องการความพร้อมของข้อมูล เพื่อนำไปสู่วิธีคิดที่ยอมรับได้จากทั้งทางการและธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านความพร้อมของระบบไอทีในการคำนวณดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือประเมินความเสี่ยงของลูกค้าตามเงื่อนไขที่กำหนดใหม่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ