กรมสรรพากรเปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษี VAT ผู้ค้าออนไลน์จากต่างประเทศ 14-29 ม.ค.63

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 16, 2020 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร ระบุว่า กรมฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน)

หลังจากกระทรวงการคลัง ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน) โดยได้เปิดรับฟังความเห็นของประชาชนระหว่างวันที่ 17 ม.ค.61 ถึงวันที่ 9 ก.พ.61 และได้นำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

บัดนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) ได้ตรวจพิจารณาและทำการปรับปรุง ร่างกฎหมายร่วมกับกระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร) เสร็จแล้ว มีการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะถ้อยคำตามแบบการร่างกฎหมาย โดยยังคงหลักการตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ แต่เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำดังกล่าว มีข้อความอันเป็นสาระสำคัญบางประการเปลี่ยนแปลงไปจากการรับฟังความคิดเห็นเมื่อครั้งก่อน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน

กรมสรรพากร จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวตามแบบฟอร์มการให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนระหว่าง วันที่ 14 ม.ค.63 ถึงวันที่ 29 ม.ค.63

ทั้งนี้ สำหรับความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายดังกล่าวขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว

นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี การใช้ หรือการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร ให้สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

หลักการที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์

2. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "สินค้า" และเพิ่มบทนิยามคำว่า "บริการทางอิเล็กทรอนิกส์" และคำว่า "อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม"

3. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน เสียภาษีจากยอดขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์

4. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน

5. กำหนดให้การดำเนินการทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำโดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

6. กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ