นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท มารีนไทย กรุ๊ป จำกัด รับผิดชอบดูแลการพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของ "ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด"ให้ก้าวสู่เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่และทันสมัยระดับโลก โดยมีระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2562-2572) พร้อมกันนี้ยังจะช่วยรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต
การจ้างเอกชนเพื่อบริหารจัดการท่าเรือฯ มาบตาพุด สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของภาครัฐ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 45 เพื่อให้การบริหารจัดการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการบริการผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ด้วยบริการที่มีมาตรฐาน ความปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาคอุตสาหกรรม
"เพื่อบรรลุเป้าหมายในแผนธุรกิจของท่าเรือฯมาบตาพุด ในการก้าวไปสู่ World Class Port กนอ. จำเป็นจะต้องสรรหาผู้มีความรู้เฉพาะด้านมาบริหารจัดการท่าเรือฯ มาบตาพุด ต่อเนื่องสำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ปี 62-72 ต่อไป โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับสิทธิ์นี้คือ บริษัท มารีนไทย กรุ๊ป จำกัด"นางสาวสมจิณณ์ กล่าว
ทั้งนี้ กนอ.จึงได้ลงนามในสัญญาจ้างบริหารจัดการท่าเรือฯ มาบตาพุด ระหว่างกนอ. และบริษัท มารีนไทย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมและบริหารจัดการคนประจำเรือ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอู่ต่อ-ซ่อมเรือ อุปกรณ์เรือ และกลุ่มธุรกิจให้บริการรับจ้างเหมาบริหารจัดการท่าเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้าทั่วไป สินค้าน้ำมัน เคมีและแก๊ส รวมถึงการบริหารจัดการระบบคลังเก็บสินค้า
บริษัทถือได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าเรือ มีความพร้อมในการดำเนินการด้านระบบสาธารณูปโภคทางทะเล การบำรุงรักษา รวมถึงพรั่งพร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัยสามารถบริหารจัดการท่าเรือฯ มาบตาพุดได้ตามวัตถุประสงค์ของ กนอ. ที่ต้องการพัฒนาให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก และเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับ EEC โดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุด ระยะที่ 3 พื้นที่โครงการ พื้นที่รวม 1,000 ไร่ มูลค่าโครงการรวม 55,400 ล้านบาท
กนอ. คาดว่าผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ จะทำให้ท่าเรือฯ มาบตาพุดเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และ โลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ เป็นประตูการค้า (Gateway) เชื่อมโยงกับภูมิภาค และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve อีกทั้งยังมีความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชนและเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ นับว่าเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนอีอีซี
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวอีกว่า กนอ. ได้กำหนดนโยบายคุณภาพและสิ่งแวดล้อมของสำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามหลักการ "Clean and Green Port With Speed and Better Service" ซึ่งหมายถึง การให้บริการที่รวดเร็วและถูกต้อง พร้อมทั้งมีมาตรฐานในคุณภาพของการบริการ เพื่อตอบสนองต่อความมุ่งมั่น ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ด้วยการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการป้องกันและลดผลกระทบทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย รวมถึงมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นในเรื่องการให้บริการ การประหยัดพลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังสามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จัดตั้งขึ้นตามนโยบายภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อปี 2524 ด้วยการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ณ มาบตาพุด จังหวัดระยอง และแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแห่งใหม่ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 36 นับเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมน้ำลึกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแห่งเดียวในประเทศไทย โดยมีปริมาณสินค้าและปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีท่าเทียบเรือให้บริการ 12 ท่า ประกอบด้วยท่าเรือสาธารณะ (Public Berths) 3 ท่า ได้แก่ บจก.ไทยคอนเน็คทิวิตี เทอมินอล จำกัด บจก. ไทยแท้งค์เทอร์มินอล จำกัด (TTT) และ ท่าเรือฯมาบตาพุด (MIT) ท่าเรือเฉพาะกิจ 9 ท่า ได้แก่ บมจ.เอ็นเอ็ฟซี (NFC) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) บจก. โกลว์ เอสพีพี 3 (GLOW SPP3) บจก.มาบตาพุดแท้งค์เทอร์มินอล (MTT) บจก.บีแอลซีพี เพาเวอร์ (BLCP) บจก.พีทีทีแอลเอ็นจี (PTT LNG) บจก. พีทีที แทงค์ เทอมินัล (PTT Tank) และบจก.ระยอง เทอร์มินอล (RTC) รวมทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมีความสำคัญโดยเป็น 5 ช่องทางขนถ่ายสินค้าผ่านท่า โดยส่วนสินค้านำเข้า-ส่งออกของด่านศุลกากรมาบตาพุดมีมูลค่า 1,028,070 ล้านบาทในปี 62 เพิ่มขึ้น 2.06% จากปีงบประมาณ 2561 สำหรับปริมาณเรือและสินค้าผ่านเข้าออก มีปริมาณเรือทั้งหมด 7,738 ลำ เพิ่มขึ้น 9.17% จากปีงบประมาณ 61 ที่มีจำนวน 7,088 ลำ และมีปริมาณสินค้ารวม 45,546,474.11 เมตริกตัน แบ่งเป็นสินค้าทั่วไปขาเข้า 30,515,495.25 เมตริกตัน และสินค้าทั่วไปขาออก 15,020,978.86 เมตริกตัน และเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการหารายได้ขับเคลื่อนต่อองค์กร