ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 63 ระหว่างวันที่ 24-30 ม.ค.63 ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยน่าจะยังมีบรรยากาศที่ดี คาดว่าในช่วงนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 365,500 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 2.7% เติบโตใกล้เคียงกับตรุษจีนปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการทำตลาดอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบกับมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrivals เป็นปัจจัยที่สนับสนุนในการทำตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งผลสำรวจของ Ctrip พบว่า นักท่องเที่ยวจีนยังเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ในระยะถัดไป แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 63 ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ปัจจัยเดิมที่ยังมีผลต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ได้แก่ ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจะทำตลาดยากขึ้น การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวจากการทำตลาดของการท่องเที่ยวในประเทศจีนเองและระหว่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวมีจุดหมายปลายท่องเที่ยวที่เป็นทางเลือกที่หลากหลายขึ้น ความผันผวนของค่าเงินบาทเทียบหยวน เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ที่ส่งผลต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวด้านราคา
ขณะที่ปัจจัยท้าทายใหม่ที่ต้องติดตาม ได้แก่ โรคปอดที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronavirus (COV)) สายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาได้พบผู้ติดเชื้อเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวในประเทศไทย 1 ราย โดยหน่วยงานภาครัฐได้มีมาตรการเข้ามาดูแลตามขั้นตอนอย่างรวดเร็วเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
รวมทั้งพัฒนาการของสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและราคาน้ำมันที่ผันผวนสูง ซึ่งอาจส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจและบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน และปัจจัยเรื่องภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ยังอยู่ในกรอบจำกัดและปัจจัยเสี่ยงบางประการอาจจะส่งผลในทางบวกบ้างต่อการท่องเที่ยวไทย เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจจะส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางกลุ่มปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวหันมาเดินทางระยะใกล้เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ เช่นเดียวกับปัญหาความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปท่องเที่ยวในภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงการที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์โรคปอดที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronavirus (COV)) สายพันธุ์ใหม่นี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 63 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยจะอยู่ที่ประมาณ 11.10-11.30 ล้านคน หรือเติบโตประมาณ 1.6%-3.5% ชะลอลงจากปี 62 (ได้คำนึงถึงผลของการต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรวีซ่า (Visa on Arrival) แล้ว) ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนคงจะไม่สูงดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากฐานของตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่มีขนาดใหญ่ด้วย
สำหรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 550,000–560,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 1.1-2.8% ชะลอลงจากปี 62 หากพิจารณาหมวดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยที่ยังขยายตัว จะเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทั้ง Street Food และอาหารท้องถิ่น
กอปรกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่จะมีการค้นหาร้านอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงซึ่งทำได้สะดวกขึ้นผ่านสมาร์ทโฟน สำหรับการใช้จ่ายด้านโรงแรมและที่พักจะมีมูลค่าลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันของธุรกิจโรงแรมและที่พักที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีทางเลือกมากขึ้นในการเปรียบเทียบคุณภาพและราคา
อนึ่ง ภายใต้สภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่มีมากขึ้น ในขณะเดียวกันพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติที่เปลี่ยนเร็วโดยมีความต้องการที่ซับซ้อนและหลากหลายสะท้อนจากความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง (FIT) มากขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวจึงหนีไม่พ้นที่คงจำเป็นต้องปรับวิถีการดำเนินธุรกิจให้เท่าทันและแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวควรจะมีการปรับแพ็คเกจท่องเที่ยวให้เข้ากับเทรนด์และความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของนักท่องเที่ยวจีนแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงวัย หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางกับครอบครัวที่มีหลายช่วงวัย เช่น การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงกีฬาและการผจญภัย ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความยืดหยุ่นสอดคล้องไปกับความต้องการและงบประมาณของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างๆ
การเข้าไปอยู่ในช่องทาง/แพลตฟอร์ม/แอพพลิเคชั่น ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมใช้ในการค้นหาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการใช้ QR Code และเทคโนโลยี AR ที่สามารถเชื่อมคลิปวิดีโอในการช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ หรือแม้กระทั่งการมีระบบการชำระเงินที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมใช้ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวก็เป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่เจาะกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวเอง (FIT) ควรพิจารณาเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีนให้ได้มากที่สุด