(เพิ่มเติม) ThaiBMA คาดปี 63 เอกชนไทยออกหุ้นกู้ระยะยาว 8.5 แสนลบ.จากปี 62 ทำสถิติใหม่ 1.08 ล้านลบ.ประเมินกนง.ลดดอกเบี้ยใน Q1

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 16, 2020 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2563 คาดว่าบริษัทเอกชนไทยจะยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าจะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวแตะ 850,000 ล้านบาท และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) รัฐบาลระยะสั้นขยับลดลงตาม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปีซึ่งทำระดับต่ำสุดใหม่ในช่วงเปิดต้นปีน่าจะมีโอกาสปรับตัวลงในกรอบจำกัด และขยับขึ้นในกรอบแคบเมื่อสงครามการค้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ส่วนในปี 62 ตลาดตราสารหนี้ไทยถือว่ามีการขยายตัวในระดับที่ดี มูลค่าคงค้างรวมที่ 13.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.72% จาก 12.79 ล้านล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยปริมาณการซื้อขายในตลาดรองเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 11% จากปีก่อนหน้า ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน มูลค่าคงค้างมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 9% จากปีก่อนหน้า จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวซึ่งกว่า 94% มีอันดับเครดิตอยู่ในกลุ่ม Investment grade มีเพียง 6% เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่ม Under investment grade และ non-rated หรือที่เรียกว่า High yield bond ด้านการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ในปีที่ผ่านมาภาคเอกชนมียอดการออกสูงเป็นประวัติการณ์ทำสถิติใหม่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อนหน้า นำโดยการออกของธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มียอดการออกพุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าในปีที่แล้ว ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลงมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงของการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN)

การลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในปี 62 เป็นการไหลออกสุทธิ 84,452 ล้านบาท โดยมีการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว จำนวน 52,456 ล้านบาท แต่ขายออกสุทธิในมูลค่าที่สูงกว่าในตราสารหนี้ระยะสั้น 136,909 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นปี 62 ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 991,779 ล้านบาท หรือเท่ากับ 10.49% ของมูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลและธปท. ซึ่งลดลงจาก 11.86% เมื่อปลายปีก่อนหน้า

การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปี 62 มีทิศทางการปรับตัวลดลงตลอดทั้งปีในทุกรุ่นอายุ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 Bond yield อายุ 5 ปี และ 10 ปีปรับลดลงถึง 75 bps. และ 100 bps. จากต้นปีมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.34% และ 1.43% ตามลำดับเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 62 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีทิศทางแบนราบลง (Flatten) ทั้งเส้น จากนั้นในไตรมาสสุดท้าย Bond yield อายุต่ำกว่า 10 ปีขยับลงต่อ โดย ณ สิ้นปี รุ่นอายุไม่เกิน 1 ปีปรับตัวลงราว 34-53 bps. นับตั้งแต่ต้นปี ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี ปรับลดลง 94 bps. จากที่ 2.43% เมื่อตอนต้นปีลงมาที่ 1.49% เมื่อสิ้นปี 62

"ปี 63 บริษัทเอกชนไทยจะยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าจะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวแตะ 850,000-920,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะไม่ได้สูงเท่ากับปี 61 ที่มียอดการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำสถิติใหม่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เนื่องด้วยจากการสำรวจจะมีการ Rollover หรือจะมียอดครบกำหนดอายุในปีนี้อยู่ที่ 661,727 ล้านบาท และจะมีการออกใหม่ประมาณ 400,000 ล้านบาท และจะมียอดครบกำหนด Call รวม 57,000 ล้านบาท เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลง"นายธาดา กล่าว

นายธาดา กล่าวอีกว่า ทิศทาง Fund Flow ในปี 63 คาดว่ามีโอกาสที่เงินทุนจะไหลออกจากตราสารหนี้ ราว 80,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยจะไหลออกในตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว และส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ Bond yield ระหว่างไทยและสหรัฐอยู่ในระดับที่ต่ำมาก รวมถึงพันธบัตรจีนที่จะถูกเพิ่มน้ำหนักใน GBI-EM index ในช่วงเดือนก.พ.63 น่าจะส่งผลกระทบกับพันธบัตรไทยที่มีสัดส่วนอยู่ในดัชนีดังกล่าวที่ 9% ถูกปรับน้ำหนักลง 2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ