กพท.คาดปี 63 จำนวนผู้โดยสารทางอากาศโต 3-5% เกาะติดโลว์คอสต์ขาดทุนหนัก, เร่งปรับเกณฑ์ออก กม.ใหม่ควบคุมโดรน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 16, 2020 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT คาดว่าในปี 63 จำนวนผู้โดยสารที่เดินทาวทางอากาศโดยรวมจะเพิ่มขึ้น 3-5% จากสถิติการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศในปี 62 มีทั้งหมด 165.11 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2% แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 76.20 ล้านคน ลดลง 3.1% และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 88.91 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.3% เพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และคนไทยนิยมเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย

ส่วนจำนวนเที่ยวบินในปี 62 ลดลง 2.5% มาเป็น 1.07 ล้านเที่ยวบิน โดยจำนวนเที่ยวบินในประเทศลดลง 7% ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้น 2.6% ขณะที่คาดว่าในปี 63 จะกลับมาเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเดินทางด้วย

นายจุฬา กล่าวว่า ปัจจุบันมีสายการบิน 5 รายที่ กพท.เข้าดูแลเป็นพิเศษเพราะมีผลขาดทุนสะสมสูงระดับพันล้านบาทถึงหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ก็ต้องพิจารณาทุนจดทะเบียน สินทรัพย์ประกอบด้วย

นอกจากนี้ มีสายการบินที่ขอใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) จำนวน 2 ราย และมี 1 ราย ที่ได้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จำนวน 1 ราย คือสายการบินไทยอีสตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทยเกาหลี

ขณะที่ในเดือน ก.พ.นี้ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยสนามบินและสายการบิน รวมทั้งมาตรฐานการอำนวยความสะดวกเข้าออกของสนามบิน โดยจะใช้เวลาเข้ามาตรวจสอบเป็นเวลา 10 วัน

นายจุฬา กล่าวอีกว่า ในปีนี้ กพท.จะให้ความสำคัญการกำกับดูแลการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพราะปัจจุบันการใช้งานขยายตัวค่อนข้างมาก โดยจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยทัดเทียมกับมาตรฐานสากลที่ ICAO ได้ออกเกณฑ์ไว้ ทั้งนี้คาดว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.มากำกับดูแลโดยเฉพาะ และจะมีผลบังคับใช้ราวในปลายปี 63

ทั้งนี้ กติกาใหม่ เบื้องต้นจะมีการขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่โดรน ส่วนเครื่องโดรนจะต้องลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อคัดสรรผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการใช้งานในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโดรน และจะมีการจัดโซนนิ่งด้วย รวมระดับความสูง โดยไม่ให้บินในพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่ง

ปัจจุบัน มีผู้ขึ้นทะเบียนขับขี่โดรนเป็นบุคคลธรรมดาในประเทศ จำนวน 11,286 ราย บุคคลธรรมดาต่างประเทศ จำนวน 3,003 ราย นิติบุคคล 1,386 ราย และรัฐกับรัฐวิสาหกิจ 386 หน่วยงาน โดยการใช้โดรนส่วนใหญ่เป็นเรื่องนันทนาการ นอกจากนี้ รับจ้างถ่ายภาพ ตรวจสอบเส้นทางงานก่อสร้างรถไฟฟ้า รับจ้างโปรยสารเคมีในไร่อ้อย หรือ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้โดรนเพื่อเข้าดูแลสายส่ง

นอกจากนี้ในปีนี้ดูแลเรื่องการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (HEMS) ที่ กพท.มุ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุท้องถนน ดังนั้น จะให้การส่งเสริมในปีนี้ คือการปลดล็อกให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดที่นอกเหนือสนามบินได้ในวันที่ 1 มี.ค.63 เพราะระยะเวลาในการขนส่งผู้ป่วย 1 ชั่วโมงถือเป็น Golden Hour โดย กพท.ได้ร่วมมือกับสถาบันการแพยท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อผสานการขนส่ง ทั้งทางอากาศ บก และเรือ เพื่อที่จะรักษาชีวิตคนได้มากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินประเภทเฮลิคอปเตอร์ และนักบินเฮลิคอปเตอร์มากขึ้นอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ