ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 จะอยู่ในระดับปานกลาง 2.7% จากปี 62 ที่ขยายตัว 2.5% โดยมองว่าน่าจะได้รับผลบวกจากความต้องการสินค้าส่งออกดีขึ้นล็กน้อย การบริโภคภาคเอกชนพื้นตัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐอย่างจริงจังมากขึ้นในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในอนาคตมีแนวโน้มจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกมาจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอมริกาและจีน ส่วนความเสี่ยงระยะสั้นจากปัจจัยภายในประเทศ คือ ความสมานฉันท์ของรัฐบาลร่วมหลายพรรคการเมืองที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
หากมองปัจจัยด้านบวก ภาคการส่งออกของไทยอาจได้รับประโยชน์จากความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการค้าที่บรรเทาลง, การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐและโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ที่สำคัญสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต และลดความอ่อนไหวในกลุ่มนักลงทุนได้ในระยะสั้นและระยะปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาครัฐบริหารจัดการลงทุนโครงการเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วยการที่ภาครัฐกำลังริเริ่มดำเนินการเพื่อคุ้มครองครัวเรือนที่เปราะบางนั้น ภาครัฐควรพิจารณาวิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อการคุ้มครองทางสังคมที่ตรงเป้าหมายดียิ่งขึ้น
เวิลด์แบงก์ ระบุในรายงาน "ตามติดเศรษฐกิจไทย:ผลิตภาพเพื่อความมั่งคั่ง"ว่า หากแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยยังคงเหมือนเดิมต่อไป โดยที่การลงทุนและผลิตภาพไม่มีท่าทีจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้วนั้น เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 3%
"การที่ประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงให้สำเร็จภายในปี 2580 นั้น ประเทศไทยต้องมีเศรษฐกิจที่เติบโตสูงกว่า 5% อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยผลิตภาพที่เกติบโตในอัตรา 3% ต่อปี และเพิ่มการลงทุนเป็น 40% ของ GDP" นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เวิลด์แบงก์ ระบุ