นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยทั่วประเทศเพื่อยกระดับให้เป็นร้าน Smart โชวห่วย ว่า ขณะนี้ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพันธมิตรภาคเอกชน โดยมีความคืบหน้าไปในหลายด้าน เริ่มจากการสำรวจร้านค้าโชวห่วยทั่วประเทศที่มีความพร้อมจำนวนกว่า 30,000 ราย ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 4 ขนาด คือ ขนาด SS มีพื้นที่ 1 คูหา (ประมาณ 20 ตร.ม.) หรือรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วน 56.2%, ขนาด S มีพื้นที่ 2 คูหา (ประมาณ 40 ตร.ม.) หรือรายได้ 30,000-50,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วน 21.7%, ขนาด M มีพื้นที่ 3 คูหา (ประมาณ 60 ตร.ม.) หรือรายได้ 50,001-100,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วน 12.6% และขนาด L มีพื้นที่มากกว่า 3 คูหา (มากกว่า 60 ตร.ม.) หรือรายได้มากกว่า 100,000/เดือน คิดเป็น 9.5%
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้นำผลสำรวจดังกล่าวมาจัดทำเครื่องมือการพัฒนาให้เหมาะสมกับร้านโชวห่วยแต่ละขนาด และวิเคราะห์เชิงลึกถึงจุดอ่อนที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาให้เป็นร้าน SMART โชวห่วย โดยกำหนดไว้ 5 แนวทาง คือ 1) การปรับภาพลักษณ์ร้านค้าโชวห่วยให้เชิญชวนลูกค้ามาเข้าร้าน โดยกำหนดหลักสูตรให้ความรู้ พร้อมลงพื้นที่ร่วมกับพันธมิตรสถาบันการศึกษา, บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO), บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง จำกัด และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย
2) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยี POS มาใช้เพื่อบริหารร้านค้า สำหรับร้านขนาด SS และ S เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและถูกจำกัดด้วยงบประมาณในการลงทุน จึงได้ส่งเสริมให้ใช้โปรแกรม Mobile POS ซึ่งปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่เป็น Smart Phone อยู่แล้วก็จะสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีมาช่วยในการบริหารร้านได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมมากนัก สำหรับร้านขนาด M และ L เป็นร้านขนาดกลาง-ใหญ่มีการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องมีเครื่องมือและโปรแกรมเพื่อบริหารจัดการได้แบบครบวงจรด้วยระบบ POS ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) โดยให้คูปองส่วนลดจำนวน 10,000 บาท เพื่อซื้อโปรแกรมดังกล่าวได้ในราคาพิเศษ อย่างไรก็ดี หากร้านขนาด S มีความพร้อมในการลงทุนก็สามารถใช้งานระบบและสิทธิประโชน์นี้ได้เช่นกัน
3) ด้านการส่งเสริมการตลาด ร่วมกับผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่ (Supplier) จัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับร้านค้าโชวห่วยเพื่อนำสินค้ามาจำหน่ายในร้านด้วยต้นทุนที่ต่ำลง 4) เพิ่มรายได้ด้วยบริการเสริมจากการสนับสนุนของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยใช้พื้นที่ของร้าน SMART โชวห่วยเป็นจุดรับ-ส่งพัสดุ (Drop-off) รวมถึงเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าชุมชน และ OTOP Select ให้นำสินค้ามาจำหน่ายในร้านซึ่งจะส่งผลดีตลอดทั้งวงจรของเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทั้งผู้ผลิตสินค้ามีโอกาสกระจายสินค้าได้มากขึ้น และร้านโชวห่วยก็จะมีช่องทางการเพิ่มรายได้ และ 5) การเข้าถึงเงินทุน ร้านโชวห่วยจำเป็นจะต้องมีเงินทุนสำหรับลงทุนเพื่อประโยชน์ในระยะยาว จึงได้ร่วมกับสถาบันทางการเงินให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ร้านโชวห่วยสามารถขยับขยายธุรกิจของตนเองให้เติบโตและมั่นคงได้
สำหรับแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไปจะเข้าสู่การนำเครื่องมือ 5 ด้านที่ได้กำหนดให้เหมาะสมกับร้านโชวห่วยแต่ละขนาดมาปฏิบัติใช้ พร้อมกับลงพื้นที่จริงเพื่อเปลี่ยนร้านโชวห่วยแบบดั้งเดิมให้สำเร็จเป็นร้าน SMART โชวห่วยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความคล่องตัว และเจ้าของธุรกิจรายเล็กๆ ในท้องถิ่นก็จะเป็นพลังสำคัญของประเทศต่อไป